ตั้งคกก.วิสามัญศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถพลังงานไฟฟ้า สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่
การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในวันนี้ (11 ต.ค.66) : นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสามวา ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle)
.
เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานราชการที่มีรถราชการ เช่น รถตู้โดยสาร รถตรวจการณ์ รถบรรทุกหน่วยบริการเคลื่อนที่เร็ว รถเก็บขนมูลฝอย รถบรรทุกน้ำ และรถบรรทุกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งรถดังกล่าวใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นต้นกำเนิดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 สูงกว่าร้อยละ 49 โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ถึง 0.10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน รวมถึงสุขภาพของผู้ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับรถ เช่น พนักงานเก็บขนมูลฝอยที่ต้องทำงานต่อเนื่องทุกวัน ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงควรมีการดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเดิมให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อยืดอายุการใช้งานรถยนต์ที่มีอยู่เดิมออกไปได้ หรือพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งานหรือที่จะต้องจัดซื้อใหม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นละอองได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง และหากกรุงเทพมหานครสามารถตั้งสถานีดัดแปลงเครื่องยนต์ได้เองจะสามารถให้บริการได้ทั้งรถราชการและประชาชน โดยอาจมีการนำร่องในเขตที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการจราจรและประชากรหนาแน่น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า(Electric Vehicle)
.
“ญัตตินี้เคยยื่นมาแล้วก่อนปีงบประมาณ 67 เนื่องจากในกทม. มีรถสันดาปวิ่งอยู่กว่า 2.4 ล้านคัน โดยเป็นรถดีเซลในสังกัดกทม. เช่น รถเก็บขนมูลฝอยที่มีมากถึง 2,000 คัน และรถในแต่ละเขตอีกกว่า 500 คัน ถึงแม้จะไม่ถึง 1% ของรถที่วิ่งในกทม.ก็ตาม แต่ก็พบว่ารถของกทม.ใช้งานวิ่งในระยะยาวนานกว่า ซึ่งการปรับเปลี่ยนรถราชการที่มีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นรถ EV ก็เป็นเรื่องที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ รวมถึงรัฐบาลจะผลักดันพ.ร.บ.อากาศเพื่อให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพ ฯ และประเทศไทย” ส.ก.นฤนันมนต์ กล่าว
.
“เขตคลองสามวาเป็น Top 5 เขตที่มีค่าฝุ่นละอองPM2.5 สูงสุดในกทม.บ่อยครั้ง ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนอกจากจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแล้วยังส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากด้วย เมื่อมาพิจารณาดูก็พบว่าหนึ่งในสาเหตุคือรถดีเซล หากกทม. เริ่มต้น จะทำให้ประชาชนเป็นว่าเราเป็นผู้นำ และเป็นต้นแบบให้กับอปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทั่วประเทศต่อไป” ส.ก.นฤนันมนต์ กล่าวตอนท้าย
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในเรื่องประโยชน์ของการใช้รถพลังงานไฟฟ้า และเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อสนับสนุนญัตติหลายท่าน ได้แก่ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา และนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครพร้อมที่จะทำงานกับสภากทม. เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนกทม.ดีขึ้น และคงมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีหลายหน่วยงานที่ดูแลเพื่อให้แผนของกทม.มีความสอดคล้องกัน ยินดีที่ทุกท่านจะร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ ของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่
.
ที่ประชุมสภากทม. มีมติให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) จำนวน 17 คน กำหนดระยะเวลาการศึกษา 90 วัน
————————-
ผู้ชมทั้งหมด 363 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง