ตั้งข้อสังเกตสำนักศึกษาเร่งปรับปรุงกายภาพให้ทันสมัย จูงใจผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้า รร.กทม.มากขึ้น
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (7 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร โดยมี หัวหน้าหน่วยงานเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ร่วมตั้งข้อสังเกตโครงการสำนักการศึกษาเพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคการก่อสร้างอาคารเรียนในปัจจุบัน เนื่องจากแบบอาคารยังใช้แบบเดิมตั้งแต่ปี 50 โดยขอให้ปรับรูปแบบอาคารให้มีความทันสมัย ห้องน้ำควรใช้แบบชักโครกทั้งหมด การติดตั้ง Solar Rooftop การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ผู้ปกครองตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนสังกัดกทม.ให้มากขึ้น
.
นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ให้คำแนะนำโครงการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมยุค 4.0 (โรงเรียนภาษาที่สาม) ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีควรเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กเพราะในช่วงนี้จะเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีที่สุด และเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ให้ประสาน 50 เขต ประชาสัมพันธ์ผลงานของนักเรียนที่ผ่านการประกวด และมีผลงานทั้งในระดับเขต หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ระดับประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณ เพื่อให้ทุกคนได้ทราบว่าเด็กนักเรียนกทม.เป็นเด็กที่มีคุณภาพ
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า โครงสร้างหน่วยงานออกแบบของสำนักการศึกษา บุคลากรมีจำกัด และแบบที่มีอยู่เป็นรูปแบบมาตรฐานที่ออกมาแบบมาแล้วมากกว่า 10 ปี หากขอให้สำนักการศึกษาออกแบบให้ จะเป็นรูปแบบเดิมที่มีอยู่ ซึ่งสำนักงานเขตสามารถออกแบบให้โรงเรียนได้ ตามที่ผู้ใช้งานต้องการและเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่มีอยู่
.
ผู้บริหารสำนักการศึกษา ได้กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ว่า ปัญหานักเรียนที่อ่านเขียนไม่คล่อง ขณะนี้มีการทดสอบการอ่านในเด็กประถมศึกษารายบุคคลอย่างต่อเนื่อง และให้ครูจัดแบบทดสอบเพื่อพัฒนาการอ่านของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหานักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา กทม.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับกระทรวงศึกษาธิการและภาคี 7 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหา จากการติดตามภาพรวมของทั้งประเทศพบว่ามีเด็กหลุดจากการศึกษาจำนวน 9,000 กว่าคน สำหรับในพื้นที่กทม.ได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยกทม.ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คัดเลือกเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน และให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ที่ผ่านมาได้ให้เงินทุนการศึกษาไปแล้ว 1.7 ล้านบาท และจะให้ต่อเนื่องต่อไป รวมถึงคัดกรองเด็กยากจนเพิ่ม คาดว่าจะได้กลุ่มใหม่ไม่ต่ำกว่า 500 คน ซึ่งกสศ.จะให้ทุนกับโรงเรียนโดยตรง ในส่วนของการวางแผนตั้งงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนลดลงนั้น ได้ปรับปรุงห้องเรียนบางส่วนที่ว่างอยู่เป็นอาคารห้องพักของครูเพื่อลดงบประมาณ สำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลนครู และการนำครูไม่ตรงคุณวุฒิมาสอน สำนักการศึกษาได้เปิดสอบแข่งขันและคัดเลือกด้วยวิธีการต่าง ๆ 5-6 วิธี เพื่อให้สามารถบรรจุและแต่งตั้งให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ตามที่ร้องขอ
.
“ขอให้หน่วยงานนำข้อสังเกตของคณกรรมการวิสามัญฯไปปรับใช้ให้เหมาะสม ในส่วนของงบที่เกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการครู การพัฒนาการศึกษา ขอให้สำนักการศึกษาเร่งรัดดำเนินการเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพราะหากยิ่งดำเนินการช้าจะยิ่งทำให้เด็กนักเรียนยิ่งเสียโอกาส” นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าว
————————
ผู้ชมทั้งหมด 294 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง