ดร.จอห์น ลงพื้นที่คลองลัดเช็ดหน้า ตรวจสอบการระบาดของปลาหมอคางดำ หลังส.ก.จอมทองยื่นญัตติด่วนต่อสภากทม.
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา (ดร.จอห์น) ประธานสภากรุงเทพมหานคร และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ลงพื้นที่บริเวณคลองลัดเช็ดหน้า เขตจอมทอง หลังส.ก.สุทธิชัย ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) (24 ก.ค.67) เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ
.
ดร.จอห์น เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามปัญหาและพูดคุยกับประชาชนในเขตจอมทอง เนื่องจากได้รับข้อมูลจากส.ก.จอมทองว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จากการลงเรือสำรวจพื้นที่คลองลัดเช็ดหน้า และมีการหว่านแหเป็นระยะตลอดแนวคลอง พบปลาหมอคางดำติดแหขึ้นมาเป็นจำนวนมากทุกครั้ง ซึ่งปกติในคลองนี้จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและปลาชนิดอื่น เช่น ปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาดุก แต่ระยะหลังพบว่าปลาเหล่านี้ลดลงไปมาก
.
“ปัญหาของปลาหมอคางดำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพและปริมาณการจับสัตว์น้ำลดลง มีผลต่อการประกอบอาชีพ กระทบถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน สาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำคือความพิเศษของปลาชนิดนี้ ที่ความอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ซึ่งพื้นที่ลำน้ำสาธารณะจำนวนมากในเขตกรุงเทพมหานครก็เป็นพื้นที่ที่ปลาหมอคางดำสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือไข่ที่อยู่ในปากของปลาหมอคางดำ สามารถมีชีวิตอยู่ในปากปลาที่เสียชีวิตแล้วได้อีกประมาณ 10-15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง หากมีการเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งน้ำอื่นจะทำให้ปัญหาขยายเป็นวงกว้าง และควบคุมได้ยาก จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการปล่อยสัตว์หรือปลาชนิดต่างๆ ลงแม่น้ำ ลำคลอง ควรศึกษาลักษณะของสัตว์ชนิดนั้นๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์อื่นในวงจรเดียวกัน” ดร.จอห์น กล่าว
.
ด้านนายสุทธิชัย ส.ก.เขตขอมทอง กล่าวว่า “ในฐานะส.ก.เจ้าของพื้นที่ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบปลาหมอคางดำเข้ามาอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณเขตจอมทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งปลาหมอคางดำสามารถเติบโตได้ในทุกสภาพน้ำ ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปลาชนิดนี้สามารถกินได้ทั้งพืช สัตว์ กุ้ง ปลา ตามแม่น้ำ และสามารถย่อยอาหารได้ดี จึงทำให้มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นไข่ของปลาหมอคางดำยังมีความแข็งแรงมาก จึงอยากให้ผู้ว่าฯ ประสานงานกับกรมประมงเพื่อเร่งเข้าแก้ไขปัญหาโดยด่วน พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจการแพร่พันธ์ในแหล่งน้ำลำคลองแต่ละเขต มีการรายงานผล และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”
.
“พฤติกรรมของปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ตัวผู้จะอมไข่ไว้ในปากเพื่อฟักไข่ และไม่ให้สัตว์น้ำอื่นกินไข่หรือลูกปลา ถึงแม้จะมีการขอดเกล็ดตัดหัวปลาแล้ว ก็ไม่ควรทิ้งส่วนหัวของปลากลงแหล่งน้ำ แต่ควรนำไปฝังดินเพื่อป้องกันไข่ฟักตัวและระบาดเพิ่ม ทั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต จะติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างใกล้ชิด นำญัตติเข้าสู่สภากทม. เพื่อให้ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหาให้ชาวกรุงเทพมหานครต่อไป” ดร.จอห์น กล่าวย้ำทิ้งท้าย
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 141 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง