คกก.วิสามัญฯ พิจารณางบปี68 เข้ม ย้ำหน่วยงานคำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่ากับประชาชนมากที่สุด
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (26 ส.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการรายงานผลการพิจารณางบประมาณของประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระดับสำนัก 5 คณะ ประกอบด้วย สำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักการระบายน้ำ
.
นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.เขตตลิ่งชัน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ นำคณะผู้บริหารสำนักการศึกษา เข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมการใช้งบประมาณต่อคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า จากการประชุมและลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ ของสำนักการศึกษา ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. ข้อสังเกตเกี่ยวกับห้องเรียนปลอดฝุ่น ที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ควรมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นภายหลังจากการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ คือ สำนักการศึกษาควรมีการกำหนดมาตรการในการป้องกันโรคอุบัติภัยใหม่ ที่ติดต่อจากโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯลฯ ที่มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดโรคติดต่อจากระบบการหายใจ จากการที่เด็กเล็กต้องอยู่ร่วมในห้องเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อวิตกกังวลใจจากผู้ปกครองและสังคม รวมถึงควรแก้ไขปัญหาระบบมิเตอร์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าของโรงเรียน ในการจัดทำเป็นห้องเรียนปลอดฝุ่นที่ปัจจุบันมีสภาพเก่าและชำรุดจากการใช้งานมานาน รวมทั้งไม่ได้รองรับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอาจเกิดอันตรายขึ้นแก่นักเรียนและครูหากเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร
2. ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มีจำนวนนักเรียนลดลง สำนักการศึกษาควรวิเคราะห์สาเหตุจำนวนนักเรียนลดลงว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้เป็นที่ยอมรับ และทำให้ประชาชนไว้วางใจที่จะนำบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร อีกทั้งควรปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาเทคนิคการสอน สนับสนุนสื่อการเรียนการสอนที่มีความทันสมัยและพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้รองรับในการจัดการเรียนการสอน
3. สำนักการศึกษาควรพิจารณาโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนลดลง และอาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้จัดการเรียนการสอน นำมาเปลี่ยนรูปแบบจากอาคารเรียนเป็นอาคารบ้านพักอาศัยให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดค่าครองชีพและแก้ไขปัญหาการโอนย้าย/ลาออกของข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร หรือปรับปรุงเป็นศูนย์สาธารณสุข อาคารสำนักงานเขต หรืออาคารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อลดภาระของกรุงเทพมหานคร
4.สำนักการศึกษาควรมีการบริหารจัดการนักเรียนที่มีความเสี่ยง กรณีเด็กพิเศษ แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นเด็กพิเศษ ทำให้นักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษต้องเรียนรวมในชั้นเรียนเด็กปกติ เห็นควรให้มีมาตรการในการคัดกรองนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน เพื่อการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้ตรงตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นเรียนปกติ หรือการจัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของนักเรียนเด็กพิเศษให้ได้รับทราบสิทธิและโอกาสทางการศึกษา การพัฒนา และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมถึงมาตรการป้องกันความรุนแรงของนักเรียนในสถานศึกษาทุกระดับ
.
ในที่ประชุม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักการศึกษาว่าหากมีการดำเนินการติดเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ในห้องเรียนปลอดฝุ่น ควรคำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศในอนาคต เนื่องจากเป็นวัสดุที่ต้องมีการเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน – 1 ปี ต้องติดตามให้มีการเปลี่ยนให้ตรงตามเวลาที่กำหนด
.
นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ยังได้ให้ข้อสังเกตสำหรับงานเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน โครงการเล่นน้ำได้ว่ายน้ำเป็นนั้น แต่ละโรงเรียนมีการประเมินผลการว่ายน้ำเป็นของนักเรียนอย่างไร มีตัวชี้วัดประเมินระดับอย่างไร และนักเรียนสามารถว่ายน้ำได้ทั้งหมดกี่คนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่ได้เรียนว่ายน้ำในโครงการนี้ โดยนางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ได้ชี้แจงว่าสำนักการศึกษามีตัวชี้วัดในการวัดระดับความสามารถของนักเรียนด้วยกัน 2 ตัว คือ ตัวชี้วัดแรก จะวัดระยะเวลาที่นักเรียนสามารถลอยตัวในการว่ายน้ำได้ ซึ่งกำหนดให้มีระยะเวลาการลอยตัวที่เพิ่มขึ้นในทุกชั้นปี (ป.3 – ป.5) และตัวชี้วัดที่สอง คือ ระยะทางในการลอยตัวสำหรับการว่ายน้ำเข้าฝั่ง สามารถว่ายได้เป็นระยะทางที่ตามกำหนด ซึ่งหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญจากรามาธิบดีมาช่วยในการวางหลักสูตรด้วย
.
นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ นำคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ และได้รายงานถึงข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดังนี้
.
สำนักการแพทย์
1. งบดำเนินงาน รายการค่าจ้างเหมาบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเงิน 81,000,000 บาท ซึ่ง สำนักการแพทย์ได้จ้างเหมาเอกชนดำเนินการบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบของทุกโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 โรงพยาบาล และสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างรายเดิมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งสำนักการแพทย์ชี้แจงว่า หากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ เนื่องจากเป็นระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) เป็นโปรแกรมที่ใช้งานเฉพาะของโรงพยาบาล ประกอบด้วย 29 ระบบงานหลัก มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษที่ซับซ้อน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ในการให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสำนักการแพทย์ได้ส่งหนังสือเชิญผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขให้มาเสนอราคา จำนวน 11 ราย แต่ปรากฏว่ามีผู้มาเสนอราคาเพียงรายเดียว คือ ผู้รับจ้างรายเดิม คณะอนุกรรมการฯ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รับจ้างเป็นรายเดิม ตั้งแต่เริ่มออกแบบระบบ และเป็นผู้รับจ้างที่ดูแลระบบดังกล่าวมาตลอด ในการเชื่อมต่อสัญญาณของระบบดังกล่าว ซึ่งเป็นของกรุงเทพมหานคร เหตุใดเอกชนรายอื่นที่จะเข้ามาดำเนินการต่อจะต้องเสียค่าเชื่อมต่อระบบให้กับเอกชนรายเดิม อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายเดิม และทำให้กรุงเทพมหานครเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาระบบหรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการให้บริการประชาชน
2. งบดำเนินงาน รายการค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานรถจักรยานยนต์กู้ชีพ Motorlance รวม 6 โรงพยาบาล เป็นเงิน 20,403,600 บาท คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า มีความเชื่อมโยงกับงบประมาณปี 2567 งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ รายการรถจักรยานยนต์กู้ชีพ Motorlance ของทุกโรงพยาบาล รวม 50 คัน ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องกันเงินเหลื่อมปีงบประมาณ 2567 เพื่อเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2568 และในเรื่องความพร้อมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานขับขี่รถที่ต้องผ่านการอบรม EMT-B ซึ่งปัจจุบันยังจัดหาผู้ปฏิบัติงานขับขี่รถฯ ได้ไม่ครบตามจำนวนรถจักรยานยนต์กู้ชีพ Motorlance ที่ได้รับบริจาคในปี 2566 รวม 50 คัน รวมถึงประเด็นค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมรถที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย
3. ทุนวิจัย ควรมีการปรับปรุงเกี่ยวกับระเบียบค่าใช้จ่ายและการขอทุนวิจัย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการทำวิจัย ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนมาก งบประมาณที่ได้รับอาจไม่เพียงพอ
4. ควรมีการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และสอดคล้องกับการจัดหาระบบสารสนเทศมาใช้ในโรงพยาบาล
.
สำนักอนามัย ในกรณีที่สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมออกตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ เช่น ตรวจสารระเหยอินทรีย์ และสารระเหยเบนซิน ตามจุดที่ได้รับการร้องเรียน จุดละ 9,400 บาท และในการตรวจแต่ละครั้งต้องตรวจ 2 จุด รวมเป็นเงิน 18,800 บาท หากพบผู้กระทำผิดจะทำการเปรียบเทียบปรับตามอัตราค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่มีความผิดก็ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบนี้ควรพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่ง ปัจจุบันสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ในส่วนของการออกแบบอาคารศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นการก่อสร้างใหม่ ควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่มากกว่าการใช้แบบมาตรฐานกลางที่ได้ออกแบบไว้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
.
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
1. หน่วยงานควรจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั้ง 7 รายการ ที่ไม่ได้รับการพิจารณางบประมาณในปี 2568 เนื่องจากเป็นการจัดซื้อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี เพื่อให้ครุภัณฑ์มีความทันสมัยตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ ซึ่งความจำเป็นและสำคัญในการตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสุขภาพประชาชน
2. ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น โครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนากำลังคนในการดูแลผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญมาก ในขณะเดียวกันเด็กก่อนวัยเรียนหรือเด็กปฐมวัยก็เป็นประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้ สมองของเด็กจะเจริญเติบโตสูงสุด การได้รับอาหารและประสบการณ์จากการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัส การทำกิจกรรมอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้และสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นประเด็นที่ควรดำเนินการ และควรเพิ่มรายละเอียดหลักสูตร แผนการปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลโครงการฝึกอบรมดังกล่าวด้วย
.
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตแก่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ว่า ควรนำโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำเมืองและหลักสูตรมหานคร ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาต่อยอดโครงการและส่งต่อให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกรุงเทพมหานคร ทั้งในระดับเขตหรือองค์รวม รวมถึงเร่งดำเนินการผลิตครูในสังกัดกทม.ตามมติการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากครูในโรงเรียนสังกัดกทม.ขาดแคลนอย่างมาก โดยรองศาสตราจารย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ชี้แจงว่า ในเรื่องการผลิตครูสังกัดกทม.นั้น ได้มีการดำเนินการร่างงบประมาณส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาเบื้องต้นแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณที่เป็นการผูกพันงบประมาณและการศึกษาของหลักสูตรครูนั้นค่อนข้างละเอียดและใช้เวลานานจึงทำให้งบฯดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยทางมหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการร่างรายละเอียดของบประมาณอีกครั้งต่อไป
.
ด้านนางกนกนุช ประธานคณะกรรมการ วิสามัญฯ ได้ให้คำแนะนำกับโครงการรับสมัครอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.กทม.) ของสำนักอนามัย ว่า นับเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้กทม.มีอสส.เพิ่มมากขึ้น แต่การประเมินอสส.รุ่นเก่านั้น มีการคัดเลือกที่ค่อนข้างยากและลำบากโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งอสส.รุ่นเก่านั้นจะมีความรู้ ความเข้าใจในชุมชนมากกว่า เพราะปฏิบัติงานมายาวนาน จึงอยากให้สำนักอนามัยพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของอสส.เพื่อชุมชนต่อไป
.
นายสราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ของสำนักการระบายน้ำ ได้นำผู้บริหารสำนักการระบายน้ำชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ว่า คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสํานักการระบายน้ำ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาบ้านรุกล้ำ คู คลอง ควรมีทีมเจรจาที่มีประสิทธิภาพ โดยสํานักงานเขตทั้ง 50 เขต จะมีทีมงานผู้ไกล่เกลี่ยประจำทุกเขต
2. การทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ปัจจุบันใช้รถดูดฉีดล้างท่อระบายน้ำ โดยบุคลากรของหน่วยงานดำเนินการเอง และการจ้างเหมาล้างทำความสะอาด ดังนั้นในการจัดซื้อครุภัณฑ์ควรคำนึงถึงการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่ากับงบประมาณ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน
3. การดำเนินการโครงการต่าง ๆ ให้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตสาธารณะในพื้นที่ให้มีความชัดเจนก่อน
4. วิธีการจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ควรปรับหลักการ วิธีการ ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ. 2562 มาตรา 16 กำหนดว่า “ให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้นโดยจัดทำเป็นแผนห้าปี ซึ่งต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง”
5. โครงการที่เสนอส่วนใหญ่ไม่มีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ และผลกระทบเชิงสังคม ทำให้การพิจารณาอาจไม่ได้ผลกระทบความเสี่ยงที่แท้จริง รวมทั้งการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วย ของแต่ละส่วนราชการยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตของสำนักการระบายน้ำ โครงการจัดซื้อรถงับผักตบชวา อาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ เนื่องจากรถดังกล่าวมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานกำจัดวัชพืชหรือขยะตามคลองสายหลักและสายรองของกทม.ได้อย่างทั่วถึง เนื่องด้วยสมาชิกสภากทม.เป็นคนในพื้นที่ ลงพื้นที่เป็นประจำ จึงทำให้รู้พิกัดคลองต่าง ๆ ในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งบางเขตบางคลองไม่มีที่พอให้รถดังกล่าวจอดปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ชี้แจงว่ามีการตั้งจุดจอดรถไว้ห่างจากริมคลองและห่างจากบ้านเรือนของประชาชนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทั่วทั้งกทม.ได้ ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ จะพิจารณาตัด ปรับ ลด อีกครั้งในการประชุมเพื่อพิจารณาตัดปรับลดในครั้งถัดไป
.
จากนั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามถึงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ในปัจจุบันเขื่อนที่อยู่ในจังหวัดเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพมหานครยังคงรับน้ำได้ดี และยังสามารถปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ในระดับปกติ ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยทางสำนักการระบายน้ำได้เริ่มวางกระสอบทรายตามจุดเสี่ยงริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วกว่า 200,000 กระสอบ ดำเนินการแล้วประมาณ 40% ของพื้นที่ ในการนี้คณะกรรมการวิสามัญแนะนำให้สำนักการระบายน้ำหาพื้นที่ในการสร้าง water bank เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต
——-—————-———
ผู้ชมทั้งหมด 84 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง