skip to Main Content
สภากทม. รุดหารือจังหวัดรอยต่อ สานความร่วมมือแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน🤝💧

สภากทม. รุดหารือจังหวัดรอยต่อ สานความร่วมมือแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน🤝💧

📌วานนี้ (20 ก.ย. 66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง นำสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตหนองแขม บางบอน และบางขุนเทียน เดินทางเยือนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามกรอบโครงการบูรณาการการบริหารจัดการกรุงเทพมหานครร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปริมณฑลพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพมหานคร ในประเด็น การจัดการน้ำท่วม และปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ณ ห้องสาครบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุมทรสาคร
.
 
💡โดยในประเด็นการจัดการน้ำท่วม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายท่าน ได้แก่ นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการระบายน้ำ กล่าวถึงปัญหาการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ว่า มีปัจจัยมาจากปริมาณน้ำฝนที่มาก การระบายน้ำล่าช้า เนื่องจากท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีขนาดเล็ก และปัจจัยการผันน้ำสู่ปากอ่าว น้ำเหนือที่ไหลลงมาสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการจากหลายหน่วยงาน นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม กล่าวถึงการเกิดน้ำทะเลหนุน ว่า ก็นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงจังหวัดปริมณฑลอื่น ๆ โดยจะต้องมีการประสานงานในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย
 
⭐จากนั้น นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ว่า สมุทรสาครเป็นพื้นที่รับน้ำมวลสุดท้ายจากกรุงเทพมหานคร โดยผ่านคลองภาษีเจริญเป็นหลัก ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการประสานเรื่องไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อขุดสันดอนปากแม่น้ำท่าจีน ทำให้การระบายน้ำที่แม่น้ำท่าจีนระบายได้เร็ว โดยมีการเสริมคันดินป้องกันน้ำท่วม และติดตั้งท่อสูบน้ำพญานาคร่วมด้วย และได้เสนอแนะให้ทางกรุงเทพมหานครและทางจังหวัดสมุทรสาคร ประสานกับกรมชลประทาน เพื่อขุดลอกคลองภาษีเจริญเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น รวมถึงหารือเรื่องสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่ง และนำโครงการแก้มลิงมาปรับใช้ต่อไป
.
 
💡ประเด็นน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า เขตบางขุนเทียนเป็นเขตเดียวของกรุงเทพมหานคร ที่มีพื้นที่ติดทะเล ระยะทาง 4.7 กม. มีโครงการที่จะสร้างเขื่อนถาวรเพื่อป้องกันปัญหาน้ำกัดเซาะ โดยปัจจุบันมีการใช้การปักไม้ไผ่ สลับกับเสาไฟฟ้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการชายทะเลบางขุนเทียน 4.7 กม. ระยะเวลาโครงการ 3 ปี ใช้งบประมาณ 1,700 ล้านบาท เป็นการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และท่าเทียบเรือ🛳 โดยเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ ต่อมานายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวว่า งบประมาณโครงการเขื่อนชายทะเลบางขุนเทียนจำนวน 1,700 ล้านบาท ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงได้เสนอแนะให้จังหวัดสมุทรสาครดำเนินการต่อ เพื่อป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยอาจใช้งบประมาณกรุงเทพมหานครดำเนินการนอกพื้นที่ ในการนี้ นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่แจ้งเรื่องการทำเขื่อนชายทะเลบางขุนเทียนให้ได้ทราบ โดยแจ้งเพิ่มเติมว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร มีแผนแม่บทในการป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำทะเลหนุน💧 ซึ่งจะมีการศึกษาครอบคลุมถึงเขตบางขุนเทียน เพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครโดยเบื้องต้น และมีการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศบริเวณพื้นที่ที่ถูกน้ำกัดเซาะ และปักแนวไม้ไผ่พร้อมวางหินด้านบนตามแนวแผ่นดินเดิม เสริมด้วยดินเลน ระยะทางประมาณ 1 กม. โดยปัญหาที่พบจากการศึกษาและดำเนินการแนวทางป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งอื่น ๆ ประกอบด้วย
1. ไส้กรอกทราย(Sand Sausage) เสียหาย
2. ไม้ไผ่ชะลอคลื่น เมื่อเกิดความเสียหายจะกลายเป็นขยะในทะเล
3. การสร้างเขื่อน พบว่าหากทำได้ไม่ครอบคลุม จะกระทบพื้นที่ส่วนอื่น ดังนั้นควรต้องมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมต่อไป
.
 
👍ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้ายการประชุมว่า “ขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครที่เห็นความสำคัญและร่วมกันหารือถึงประเด็นปัญหาร่วม 2 จังหวัด นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่าน ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่เห็นควรหารือกันเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ เช่น การจัดการขยะ ถนนเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรสาคร การเดินทางข้ามจังหวัดโดยรถยนต์ โรงเรียน และโรงพยาบาล โรคระบาดระหว่างจังหวัด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานงานและพัฒนาพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพวกเราต่อไป”
————————————

ผู้ชมทั้งหมด 281 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top