สภากทม.รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ พร้อมตั้งคกก.วิสามัญพิจารณา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
สภากทม.รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตามที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอ พร้อมตั้งคกก.วิสามัญพิจารณา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
.
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม ณ สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
ผู้ว่าฯ กทม.เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 90,000 ล้านบาท
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของการมีประสิทธิภาพและความโปร่งใส โดยกรุงเทพมหานครได้ประมาณการรายรับ 91,004.15 ล้านบาท ประกอบด้วย ก. ประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร 90,000 ล้านบาท ข. ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 1,004.15 ล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 90,828.53 ล้านบาท ประกอบด้วย ก. ประมาณการรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร 90,000.00 ล้านบาท ข. ประมาณการรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 828.53 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องพิจารณาฐานะการคลัง ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ และต้องทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องพิจารณาผลสัมฤทธิ์ ความคุ้มค่า ความประหยัด และภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นไปโดยชอบตามกฎหมาย จึงขอแถลงในรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะการคลัง สาระสำคัญของนโยบายงบประมาณและความสัมพันธ์ระหว่างประมาณการรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ดังนี้
.
จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในปี 2566 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคบริการชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับการส่งออกขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงกลางปี โดยในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ อันเนื่องจากปัจจัยของสงคราม รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี และการขยายตัวของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
.
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการสาธารณะ ตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ประกอบกับการวางมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข เพื่อพื้นฟู เยียวยา และรับมือกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุและโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น งบประมาณจึงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทำให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง สามารถจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
.
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรุงเทพมหานครประมาณการว่าสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร สำหรับการบริหารรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ พอเพียง และสามารถนำนโยบายของกรุงเทพมหานครไปสู่การปฏิบัติรวมทั้งเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน
.
นโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568
.
หน่วยรับงบประมาณ ยกเว้นการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 123,518.72 ล้านบาท ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายห้ามตั้งรายจ่ายประจำสูงกว่ารายได้ประจำ กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายการจัดทั้งงบประมาณแบบสมดุล โดยต้องพิจารณาการของบประมาณรายจ่ายให้ตรงตามความจำเป็นเร่งด่วน ภาระผูกพันของงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้แก่หน่วยรับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุน จำนวน 63,456.71 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรผ่านการพิจารณารับหลักในวาระที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
.
สาระสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
.
ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่ 1 ขอสรุปสาระสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดังนี้ นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี วงเงินงบประมาณ 24,431 ล้านบาท ประกอบด้วย บริหารจัดการดี 376 ล้านบาท (1.54%) สังคมดี 676 ล้านบาท (2.77%) เศรษฐกิจดี 88 ล้านบาท (0.36%) เรียนดี 491 ล้านบาท (2.01%) สุขภาพดี 2,298 ล้านบาท (9.41%) สิ่งแวดล้อมดี 6,643 ล้านบาท ( 27.19%) โปร่งใสดี 99 ล้านบาท (0.41%) ปลอดภัยดี 2,801 ล้านบาท (11.46%) และ เดินทางดี 10,959 ล้านบาท (44.86%) รวมถึงงบประมาณเพื่อเส้นเลือดฝอย 13,340.97 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ประกอบด้วย ปรับปรุงถนน ตรอกซอย ทางเดินทางเท้า ปรับปรุงลานกีฬา สวนสาธารณะ ไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงโรงเรียน และ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนงบประมาณจำแนกด้านตามลักษณะงานและลักษณะรายจ่ายด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 19.36% (17,427.32 ลบ.) ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 0.35% (313.60 ลบ.) ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 0.26% (233.29 ลบ.) ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 15.59% (14,031.64 ลบ.) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.71% (11,436.91 ลบ.) ด้านสาธารณสุข 4.25% (3,823.15 ลบ.) ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 1.98% (1,777.24 ลบ.) ด้านการศึกษา 1.17% (1,049.97 ลบ.) การจัดบริการของสำนักงานเขต 22.41% (20,173.23 ลบ.) รายจ่ายงบกลาง 18.66% (16,796.53 ลบ.) รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 3.26% (2,937.12 ลบ.)
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
.
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเพมหานครเขตมีนบุรี ได้ให้ข้อสังเกตว่า ควรให้โครงการขนาดใหญ่ของ กทม. ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และให้พิจารณางบประมาณเพื่อพัฒนาเส้นเลือดฝอยของสำนักงานเขตให้มากขึ้น
นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา ได้อภิปลายในด้านการปรับงบประมาณรายรับ เพื่อไม่ให้เกินกับรายจ่ายโดยอาจจะจัดการเก็บภาษีรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น
นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภา กรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน ได้ให้ข้อห่วงใยว่า ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามงบประมาณที่ขอไปของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ละเอียดรอบคอบ ให้คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท ให้ข้อสังเกตว่า ควรเน้นการพัฒนาระดับส่วนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่แค่ต้องการชีวิตที่ดี เดินออกจากบ้านแล้วถนนดี น้ำไม่ท่วม เดินทางสะดวก มากกว่าอภิมหาโปรเจคโครงการขนาดใหญ่
นางอนงค์ เพชรทัต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดินแดง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกองงบประมาณผูกพันไปเพื่อการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ แต่อยากจะให้ดำเนินการให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ตั้งข้อสังเกตุว่า การของไปอบรมสัมมนาเป็นเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมาก สามารถในเงินนั้นมาจ้างลูกจ้างในสำนักงานเขตอัตราเงินเดือน 15,000 บาท เพิ่มขึ้นได้จำนวน 345 คน หรือ เขตละ 6 คน อีกทั้งทุกวันนี้กทม.เก็บภาษีได้เพียง 40-50% ซึ่งกทม.ควรมีเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มรอบการสำรวจเพื่อให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้เข้ากทม.ได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าการจัดสัมมนาหรือไม่ เช่น พิจารณาจากตัวชี้วัดหลังสัมมนาว่า มีการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นตามเป้าหมายก่อนสัมมนาหรือไม่ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการจัดสัมมนา และงบประมาณที่หน่วยงานได้รับ
นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร กล่าวว่า ผู้บริหารกรุงเทพมหานครควรไว้ใจสำนักงานเขตในการจัดสรรงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณมาสู่สำนักงานเขตให้มากกว่านี้ เพราะพี่น้องประชาชนฝากชีวิตไว้กับสำนักงานเขตมากกว่าสำนักต่างๆ
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง อภิปรายว่า ในปีนี้ ทุกหน่วยงานต้องระบุการดำเนินการให้ชัดเจนในเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อให้ทราบว่างบประมาณที่ขอจัดสรรไปนั้นเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินการ หรือไม่
นายสราวุธ อนันต์ชล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง เสนอให้บูรณาการการออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาการทับซ้อนในการก่อสร้าง ให้ทางเท้าในกรุงเทพฯ เดินได้เดินดี ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคุ้มค่างบประมาณที่เสียไป
นายณรงค์ รัสมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ตั้งข้อสังเกตว่า อยากให้กระจายงบประมาณในพื้นที่ใหญ่ ๆ ก่อนพื้นที่ที่เล็กกว่า รวมถึงการเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เรียบร้อย
นายอานุภาพ ธารทอง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสาทร เสนอนโยบายด้านที่ 10 ท่องเที่ยวดี เพิ่มสาธารณูปโภคอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ อภิปรายถึงด้านการศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางพื้นที่มีโรงเรียนไม่เพียงพอ ควรเฉลี่ยโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ให้มีความเสมอภาคกัน
นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ อภิปรายว่า ควรผลักดันงบประมาณด้านสาธารณสุข ดิจิตอล และการจราจรให้มากขึ้น
นายตกานต์ สุนนทวุฒิ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ มีความเป็นห่วงทั้งในด้านการแพทย์ และการศึกษาเพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง หากไม่ให้ความสำคัญก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี อภิปรายว่า การจัดซื้อคุรุภัณฑ์ไฟฟ้าบางประเภท ควรต้องมีมาตรฐานมอก.บังคับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร การจัดทำงบประมาณควรเน้นย้ำการจัดสรรงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยแท้จริง
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย เน้นย้ำกทม. เขียน TOR ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ให้ละเอียดรอบคอบ
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เฮียล้าน เป็นห่วงคนกรุง มุ่งเน้นงานเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
.
ฝ่ายบริหารนำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมกันชี้แจงประเด็นการอภิปลายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวนทั้งสิ้น 37 คน
.
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาฯได้พิจารณารับร่างข้อบัญญัติ จึงขอให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567
——————————————————-
สามารถ Scan QR Code เพื่ออ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ภาพด้านล่าง
ผู้ชมทั้งหมด 214 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง