skip to Main Content
คกก.เศรษฐกิจฯ สภากทม. ติดตามปัญหาการหยุดเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุง

คกก.เศรษฐกิจฯ สภากทม. ติดตามปัญหาการหยุดเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุง

(13 ก.พ.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ สภากรุงเทพมหานคร นำคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการเดินเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม ณ ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดเดินเรือดังกล่าว เนื่องจากการเดินทางด้วยเรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี

🚤นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักงานระบบขนส่ง สำนักการราจรและขนส่ง กทม. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 แล้ว และกำลังดำเนินการหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะสามารถให้บริการเดินเรือได้ประมาณเดือนมีนาคม 2566 โดยมีสัญญาจ้าง 1 ปี

🚤สำหรับโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม เปิดทดลองให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปลายปี 2563 และสิ้นสุดสัญญาเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกมีผู้โดยสารประมาณ 1,000 คน/วัน แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-2019 ผู้โดยสารลดลงเหลือเพียง 400-500 คน/วัน มีการเดินเรือไฟฟ้าทั้งหมด 7 ลำ ท่าเรือ 11 ท่า รวมระยะทาง ประมาณ 5 กิโลเมตร

🚤นายสุทธิชัย กล่าวว่า หากกรุงเทพมหานครได้เดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้ง อยากฝากให้ฝ่ายบริหารกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องปรับปรุงทัศนียภาพสองฝั่งคลองในเรื่องของ แสงสว่าง แสงไฟ และต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับต่างๆ ให้ดูแล้วเป็นที่สะดุดตา เป็นแหล่งท่องเที่ยว น้ำต้องใสกว่านี้ ขอให้จัดการเรื่องขยะในคลอง ซึ่งสามารถเป็นจุดขายของกรุงเทพฯและสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในทางเลือกการเดินทางสำหรับพี่น้องประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร

🚤นายสุทธิชัยยัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจำนวนเรือไฟฟ้าพบว่ายังมีน้อยเกินไป ซึ่งมองว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ ซึ่งหากมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็อยากให้คำแนะนำว่าน่าจะเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) โดยให้เอกชนรับสัมปทานและเป็นผู้ลงทุน เราไม่ต้องลงทุนอะไรแล้ว ส่วนตรงไหนที่ควรจะปรับปรุงทางหรือทําเส้นทางเดินรถ BRT ทํารถโมโนเรลก็ให้ผู้รับสัมปทานลงทุนเอง ตรงนี้กทม.และประชาชนต่างได้ประโยชน์ ตนในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งจะเสนอญัตติในเรื่องนี้เข้าสภากรุงเทพมหานคร ในเร็ว ๆ นี้ต่อไป

#สภากรุงเทพมหานคร

 

ผู้ชมทั้งหมด 309 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top