(29 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
![📌](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/tac/1/16/1f4cc.png)
นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการสภา กรณีการจัดสวัสดิการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุสำหรับการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงาน โดยกล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการสภา ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาจำนวน 40 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยมีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับงานของสภากรุงเทพมหานครหลายประเด็น เช่น การจัดร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม บริเวณอาคารไอราวัตพัฒนา และการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคารไอราวัตพัฒนาสำหรับการดำเนินงานต่าง ๆ ของสภากรุงเทพมหานคร และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการสภา ในเรื่องการจัดสวัสดิการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และการใช้ประโยชน์พื้นที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ สำหรับการจัดสวัสดิการภายในหน่วยงาน คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมร่วมกับ สำนักการโยธา สำนักพัฒนาสังคม สำนักการคลัง สำนักงานการเจ้าหน้าที่ และสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบรายละเอียด แนวทาง หลักเกณฑ์ การดำเนินการยกร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับการยกร่างระเบียบกรุงเทพมหานครฯ ดังกล่าวด้วยความละเอียด รอบคอบ โดยมีข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ เช่น กรุงเทพมหานครอาจต้องสนับสนุนกิจกรรมการจัดสวัสดิการภายในในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้ใช้สถานที่ หรือการนำงบประมาณของกรุงเทพมหานครไปสนับสนุนกิจกรรมของสวัสดิการในอนาคต และสวัสดิการภายในดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ของกรุงเทพมหานคร นับเป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์หรือไม่ กรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคลัง การงบประมาณ การเงิน และการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการฯ เห็นควรตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 97 โดยผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อความรอบคอบรัดกุมในการดำเนินการ เป็นต้น
.
![✏](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/te4/1/16/270f.png)
อีกทั้งผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมามีการพิจารณา (ร่าง) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจ่ายเงินค่าเลี้ยงรับรอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากสภากรุงเทพมหานครมีภารกิจการประชุมของคณะกรรมการสามัญประจำสภาฯ คณะกรรมการวิสามัญ และคณะอนุกรรมการของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ บางครั้งเนื้อหาสาระในการประชุมแต่ละครั้งมีค่อนข้างมาก ทำให้หลายคณะมีการประชุมต่อเนื่องคาบเกี่ยวมื้ออาหารและมีความจำเป็นต้องจัดอาหารกลางวัน หรืออาหารเย็นให้กับผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังให้เหมาะสมกับเนื้องานที่ในปัจจุบันมีมากขึ้น การปรับปรุงอาคารไอราวัตพัฒนา และการจัดทำห้องสมุดสภากรุงเทพมหานคร โดยได้มีการหารือแนวทางการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารไอราวัตพัฒนาที่ชำรุดจากเหตุน้ำรั่วซึมบริเวณหลังคา ทำให้เกิดปัญหากับระบบภายในอาคารต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงระบบภายในอาคารที่เสื่อมสภาพ และจัดระเบียบการใช้งานในพื้นที่ภายในอาคารฯ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและป้องกันเหตุฉุกเฉิน บริเวณ ชั้น B2 ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมสำคัญหรือการฝึกอบรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ในส่วนของการจัดทำห้องสมุดสภากรุงเทพมหานคร นั้น คณะกรรมการฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว พิจารณาเกี่ยวกับโครงการจัดทำห้องสมุดสภากรุงเทพมหานคร บริเวณชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา โดยสำนักวัฒนธรรมฯ มีนโยบายจะให้ห้องสมุดสภากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของห้องสมุดทั้ง 36 แห่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มุมกาแฟ และมีพื้นที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand
.
![✏](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/te4/1/16/270f.png)
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายและสอบถามรายละเอียดในประเด็นดังกล่าว ได้แก่ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี กล่าวว่า เนื่องจากมีเหตุผลบางประการที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณา และหากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วนจะส่งผลกระทบกับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เช่น การปรับปรุงอาคารไอราวัตพัฒนาที่อาจจะต้องใช้งบกลางในการดำเนินการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยโดยเฉพาะชั้น B2 เป็นต้น และโรงอาหารที่อยู่ภายอาคารสำนักการระบายน้ำและสำนักการโยธานั้นผิดระเบียบการจัดสวัสดิการภายในกรุงเทพมหานคร แต่โรงอาหารที่อยู่ภายในอาคารธานีนพรัตน์ซึ่งไม่ได้เปิดใช้งานแต่ให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นสมาชิกของโครงการ Bangkok Brand เข้ามาจะหน่ายสินค้าได้โดยถูกระเบียบ อีกทั้งสวัสดิการของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ข้าราชการ อนุกรรมการฯ คณะต่าง ๆ รวมถึงบุคคลภายนอกที่หน่วยงานเชิญร่วมประชุม มีการประชุมเกินเวลามื้ออาหารโดยไม่มีข้อระเบียบที่ใช้เบิกค่าอาหารได้ โดยคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาเพื่อจะยกร่างการจัดระเบียบสวัสดิการภายในกรุงเทพมหานครเพื่อที่จะเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครต่อไป
.
![✏](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/te4/1/16/270f.png)
ทางด้านนายสุทธิชัย วีระกุลสุนทร ส.ก.จอมทอง ได้ให้ความเห็นว่า สวัสดิการของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครนั้นไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมานานหลายสิบปีโดยเฉพาะค่าตอบแทน รวมถึงค่ารักษาพยาบาล และหากพ้นจากตำแหน่งแล้วยังมีสวัสดิการนี้หรือไม่ อีกทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครสามารถรับเงินบำนาญเหมือนกับที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับ เพราะส.ส.บางเขตมีจำนวนเท่ากับ ส.ก. ซึ่ง ส.ก.ไม่มีผู้ช่วยและที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ จึงขอฝากให้ประธานคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานครพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบและส่งฝ่ายบริหารพิจารณาต่อไป
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 30 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 12 ครั้ง