skip to Main Content
“ภัทราภรณ์” เดือด! จี้ กทม. เอาผิดเจ้าหน้าที่คุกคามทางเพศ – แฉซ้ำเคยเกิดอีกแต่ช่วยกันเงียบ

“ภัทราภรณ์” เดือด! จี้ กทม. เอาผิดเจ้าหน้าที่คุกคามทางเพศ – แฉซ้ำเคยเกิดอีกแต่ช่วยกันเงียบ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568

น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางซื่อ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ กทม. ที่กระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ โดยเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีมาตรการที่ชัดเจนและโปร่งใส ต่อกรณีเจ้าหน้าที่เทศกิจคุกคามทางเพศประชาชนในงาน Cultural District คลองโอ่งอ่าง เมื่อวันที่ 12–13 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า กทม. มีพฤติกรรม “ช่วยกันปกปิด” และ “ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล”

น.ส.ภัทราภรณ์เผยว่า มีประชาชนร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊กว่าเจ้าหน้าที่เทศกิจถ่ายภาพตนเองโดยมีผู้หญิงอยู่ด้านหลัง แล้วนำไปโพสต์ลงโซเชียล พร้อมปล่อยให้เพื่อนร่วมงานเทศกิจแสดงความเห็นเชิงคุกคามทางเพศอย่างสนุกสนาน รวมถึงระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้เสียหายในเวลานั้น โดยเหตุเกิดขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานที่ กทม. จัดขึ้นเอง

“ขนาดมีหลักฐานชัดเจน กลับไม่สั่งพักงาน แต่โยกย้ายไปทำงานอื่นในสำนักงานเขตแทน แล้วขอโทษผู้เสียหายแค่หลังบ้าน ทั้งที่ประจานเขาในที่สาธารณะ” น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าว พร้อมเปิดโปงว่า กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้อดีตทีมงานหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ก็เคยถูกผู้ช่วยรองผู้ว่าฯ กทม. คุกคามทางเพศเช่นกัน และแม้ผู้กระทำจะยอมรับความผิดในการไกล่เกลี่ย แต่สุดท้ายกลับ “ไม่ดำเนินการใดๆ”

น.ส.ภัทราภรณ์ ยังตั้งข้อสงสัยว่า บุคคลที่อ้างว่า “ลาออก” จาก กทม. นั้นอาจยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่จริง เพราะพบว่ายังเข้าร่วมประชุม และชื่อยังปรากฏในโพสต์ของสำนักอนามัยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมตอกกลับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยประกาศไว้ว่าจะไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ ว่าเป็นเพียง “กระดาษเปล่า” ที่ไม่มีการปฏิบัติจริง และขอเรียกร้องให้ กทม. เปิดเผยข้อมูลบทลงโทษต่อสาธารณะ มีมาตรการอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และสร้างระบบที่โปร่งใสในการสอบสวน พร้อมวิจารณ์ว่าผู้บริหาร กทม. ควร “ละอายแก่ใจ” กับอำนาจที่มีแต่ไม่ใช้ให้เกิดความยุติธรรม

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่าขณะนี้สำนักงานเขตพระนครได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว และยืนยันว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รายนี้เป็นเรื่อง “ที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง” พร้อมรับปากจะติดตามความคืบหน้าและรายงานต่อสาธารณะ สำหรับกรณีอื่นที่ถูกกล่าวถึง เช่น เจ้าหน้าที่ในสำนักอนามัยนั้น นายจักกพันธุ์ระบุว่าไม่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลโดยตรง และจะให้ผู้ที่ดูแลโดยตรงเป็นผู้ชี้แจงต่อไป

น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดิฉันหวังว่าเคสนี้จะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีมาตรฐานรับมือกับการคุกคามทางเพศจริงหรือไม่ และยุติวงจรการเงียบเฉยในองค์กรได้หรือเปล่า”

_______

ผู้ชมทั้งหมด 24 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 24 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top