skip to Main Content
สภา กทม. ไฟเขียว ส่งฝ่ายบริหารพิจารณาทำ ‘Feeder’ เชื่อม 20 บาทตลอดสาย ยกระดับการเดินทางเพื่อทุกคน

สภา กทม. ไฟเขียว ส่งฝ่ายบริหารพิจารณาทำ ‘Feeder’ เชื่อม 20 บาทตลอดสาย ยกระดับการเดินทางเพื่อทุกคน

วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568

นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวทางและพัฒนาโครงข่ายระบบรถรับส่งต้นทาง–ปลายทาง (Feeder) ให้ครอบคลุมเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร โดยอภิปรายว่า วันนี้เรากำลังเข้ามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของกรุงเทพมหานครกับโอกาสในการสร้างเมืองที่กำลังเชื่อมถึงทุกคนเข้าด้วยกัน ในฐานะคนๆ หนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอดสามปี ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 รัฐบาลกำลังนำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมาปฏิบัติจริง นี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของ กทม. เปลี่ยนจากโครงสร้างพื้นฐานกลายเป็นเครื่องมือสร้างโอกาส ให้ทุกคนในเมืองไม่ว่าจะเป็นบนดิน ใต้ดิน ระยะทาง 280 กิโลเมตรจะถูกเชื่อมภายใต้แนวคิดเดียวกันที่เราเชื่อว่าการเดินทางคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน เมืองที่ดีคือเมืองที่ทำให้คนใช้ชีวิตง่าย และเมืองที่จะเปลี่ยนชีวิตคนได้ถ้าเราจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมต่อกันอย่างเท่าเทียม

“ถึงแม้เราไม่ใช่พระเอกแต่เราคือ ผู้เล่นหลัก ที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะลุกขึ้นแสดงบทบาททำให้ขนส่งมวลชนเข้าถึงทุกคน เราทุกคนรู้ดีว่านโยบายนี้ดีแค่ไหน ลดค่าครองชีพได้แค่ไหน แต่ถ้าเกิดเราไม่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อให้พวกเขา ถ้าเราไม่มีระบบการเดินทางที่เชื่อมถึงทุกพื้นที่ คนจำนวนมากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โอกาสนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ผ่านมาและผ่านไปเท่านั้น” นายวิพุธ กล่าว

นายวิพุธ อภิปรายต่อไปว่า ขอใช้โอกาสนี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่ง ตนคิดว่าต้องเดินไปร่วมกัน ปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือการเสียเวลาในการเดินทาง เสียเงินในการเดินทางหลายต่อ และถอดใจกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพราะขาดการเชื่อมต่อที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นธรรม คนเมืองต้องการทางเลือก การเดินทางของเมืองจะดีขึ้นได้ ระบบ Feeder สามารถลดเรื่อง PM 2.5 คาร์บอนไดออกไซด์ และรถยนต์ส่วนบุคคลภายในเมือง

ทั้งนี้ นายวิพุธ กล่าวว่า เราพยายามทำเพื่อลดค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการบริการของรัฐ ในทางตรงกันข้าม หากทำให้ค่าโดยสารถูกลง แต่คนต้องเดินทางหลายต่อมันจะถึงเป้าหมายที่อยากเป็นหรือเปล่า? ตนถึงได้บอกว่าระบบขนส่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งมวลชนหลัก (Feeder) และระบบ 20 บาทตลอดสายต้องเดินคู่กันเพื่อให้ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายวิพุธ อธิบายว่า Feeder ประกอบด้วยรถโดยสารประจำทาง รถสองแถว รถสี่ล้อรับจ้าง แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมไปถึง On-Demand ที่ให้บริการตามที่ต้องการ รูปแบบการเดินทางของคน กทม. จากการสำรวจแยกได้เป็น 3 พื้นที่คือพื้นที่ชั้นใน พื้นที่ชั้นกลาง พื้นที่ชั้นนอก ถ้าเราพูดกันตามความเป็นจริง กรุงเทพมหานครคือคนที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุด กทม. ควรมีบทบาทเป็นคนบริหาร Feeder ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ทำหน้าที่ประสานแผนงานการเดินรถ เป็นผู้ออกแบบเส้นทางเชื่อมต่อขนส่งมวลชนหลัก ควรเปิดเวทีรับฟังไปเลยว่าประชาชนเห็นด้วยไหมในพื้นที่นั้นๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนหรือนำร่อง ประเมินการทับซ้อนของเส้นทางรถโดยสาร ประเมินความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ประเมินรายได้และต้นทุนของการให้บริการรถโดยสาร กำหนดมาตรฐานการให้บริการ รูปแบบการให้ใบอนุญาตและเงื่อนไขใบอนุญาต ฯลฯ และขอให้สภา กทม. เร่งศึกษาระบบ Feeder อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชน ทำให้เป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน

ด้าน นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก. เขตบางเขน กล่าวสนับสนุน เพราะพื้นที่ของตนเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยกันอยู่หนาแน่น เป็นพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก รถไฟฟ้าในพื้นที่บางเขนมีแค่สายสีเขียวและสายสีชมพู การเดินทางมาที่สถานีรถไฟฟ้าลำบาก ต้องใช้รถส่วนตัวหรือรถสองแถวที่มีน้อยมาก ระบบ Feeder จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เสริมสร้างความเท่าเทียมของสังคม ลดมลภาวะทางอากาศ และลดปัญหาการจราจร

นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก. เขตทวีวัฒนา สนับสนุนญัตติดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพราะถนนสายรองในทวีวัฒนาไม่มีรถวิ่ง และส่วนใหญ่เป็นซอยลึกไม่มีรถผ่าน ประชาชนธรรมดามีรายได้น้อยวันหนึ่งจะไปเขตทีนึงต้องเสียค่าวินมอเตอร์ไซค์ 400 บาท

นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก. เขตมีนบุรี กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีผลการศึกษาไว้เยอะมาก ถ้านำมาขยายผลเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มาลงทุนด้วย จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ฝ่ายบริหารได้นำแผนมาประยุกต์ใช้เชื่อมโยงอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามีการเชื่อมโยงทางน้ำไม่ถึง 10% แต่เขตตะวันออกของกรุงเทพมหานครมีคูคลองมากมาย ทำไมเราไม่ทำเรื่องทางน้ำให้เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก

นายสารัช ม่วงศิริ ส.ก. เขตบางขุนเทียน กล่าวว่าเขตของตนไม่มีระบบรถไฟฟ้าทำให้ต้องไปใช้บริการในเขตใกล้เคียง ถ้ามีระบบขนส่งที่เชื่อมต่อจะดีขึ้น

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก. เขตยานนาวา กล่าวว่า การนำเงินของกรุงเทพมหานครเข้าไปอุดหนุนหมดไป 24 ล้านบาท สำหรับหนึ่งสาย ถ้าเกิดกรุงเทพมหานครจะเพิ่มไปอีก 20 สาย ไม่มั่นใจว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่ ถ้าเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลภาคใหญ่ก็จะดีมาก การสร้าง Feeder เป็นเรื่องที่ดีอยากให้ศึกษาให้รอบคอบ

น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก. เขตคลองสามวา กล่าวว่าเขตคลองสามวามีประชากรมากเป็นเบอร์หนึ่ง ประชากรเยอะแต่ไม่มีรถไฟฟ้าของตัวเอง ดังนั้นคนเขตคลองสามวาต้องการ Feeder มากขึ้น ตนเชื่อว่าเขตทวีวัฒนาจะเป็นพื้นที่ทดลองที่ทำให้กรุงเทพมหานครได้เห็นว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่เพื่อให้ฝ่ายบริหารกลับไปคิดเพิ่มว่าเงินหลังจากนี้จะนำมาจากไหน

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่าเรามี Feeder ให้บริการฟรีอยู่ 6 เส้นทาง โดย Feeder ควรจะให้บริการช่วงเช้ากับช่วงเย็น ใช้ในวันธรรมดา ฉะนั้นการนำรถที่มีอยู่แล้วในสัญญาจ้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังทำอยู่ เรื่อง Feeder เป็นเรื่องจำเป็น ต้องทำให้คุ้มค่ามากที่สุด กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมว่าจะมีการเปิดให้เอกชนมาเป็นผู้ให้บริการหรือให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการ จะไม่เป็นภาระกับกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ นายวิศณุ ยังกล่าวว่า เรามีโครงการเดินได้เดินดี การปรับทางเท้ารอบสถานีรถไฟ มีจักรยาน เส้นทางจักรยานเสริมเข้ามาเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้า และไม่ได้ละเลยการสัญจรทางคลอง แต่การให้บริการมีผู้ใช้จำนวนไม่มาก หากเราใช้รูปแบบแบบเดิมจะคุ้มค่าหรือไม่ ตอนนี้กำลังศึกษารูปแบบ On-Demand เพื่อลดค่าใช้จ่าย

นายวิพุธ กล่าวขอบคุณรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เห็นพ้องเรื่องเดียวกัน และหวังว่าอนาคตข้างหน้าจะได้เห็นระบบ Feeder ร่วมกัน ตอนนี้หากเราไปต่อจะเป็นโอกาสของประชาชนที่จะเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างแท้จริง

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวและมีการส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป

ผู้ชมทั้งหมด 26 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 26 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top