
“กิตติพงศ์” จี้ถามกลางสภาฯ “นี่ประมูลหรือประเคน?” เร่ง กทม. แก้ปัญหาจัดซื้อจัดจ้าง หวั่นเกิดความเสียหาย-เอื้อประโยชน์เอกชนเจ้าเดิมๆ
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568
นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตทุ่งครุ เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้กรุงเทพมหานครได้รับผลประโยชน์สูงสุดในด้านคุณภาพและราคา นายกิตติพงศ์ เปิดเผยหลังได้ลงพื้นที่และพบว่ามีประชาชนส่งข้อมูลเป็นคำว่า “นี่ประมูลหรือประเคน?” ยกตัวอย่างเรื่องการลอกคลอง สมมติราคากลางอยู่ที่ 100 บาทโดยตามระบบเราก็ต้องเลือกที่ถูกที่สุด แต่ปรากฏว่ามันต่ำมาก เลยมีคำถามว่าทำไมผู้รับเหมาบางรายถึงทำราคาได้ต่ำขนาดนี้ หลังจากไปพูดคุยกับผู้รับเหมาหลายคนที่ไม่เข้ามาประมูลงานกรุงเทพมหานคร เขาบอกว่าทำไม่ได้เพราะราคามันต่ำมาก เราเลยตั้งคำถามว่า ถ้าต่ำขนาดนี้แล้วจะขาดทุนหรือไม่? พอราคาถูกขนาดนี้ตนเลยไปเช็คดูว่าการลอกคลองเรียบร้อยดีหรือไม่ ปรากฎข้อมูลจากประชาชนมาว่าเวลาลอกคลอง ผู้รับเหมาก็ขุดดินขึ้นมาไว้ด้านข้างและแอบเอาดินไปขาย หรือเอาดินไปเกลี่ยให้ชาวบ้าน
นายกิตติพงศ์ อภิปรายว่า ผลเสียทั้งหมดอยู่กับกรุงเทพมหานคร โดยพบพิรุธดังนี้ 1. การวางงาน เช่น บริษัท “เอ” ทำงานไว้ พอมีการประมูลใหม่เป็นบริษัท “บี” ที่ได้งานแทน ปรากฏบริษัท “บี” ไม่สามารถทำงานต่อได้ด้วยเหตุผลต่างๆ 2. เพิ่มเนื้องานหลังจากงบผ่านสภาไปแล้ว ทำให้ไม่มีคนเข้ามารับงาน 3. ดึงให้ยาวไว้ก่อนเจ้าเดิมได้ประโยชน์เพื่อสัญญาเดิมต่อ 4.คนนอกเข้ามาทำอะไรในสำนัก? ทางกรุงเทพมหานครต้องปรับกรอบความคิดบางอย่าง เช่น วิธีการส่งมอบและรับงานใหม่ ของบางอย่างที่เอามาใช้ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. หรือหลายสำนักมีผู้รับจ้างกรุงเทพมหานครแค่ไม่กี่ราย เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา ส่วนสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ที่ใช้บริการซอฟต์แวร์จากผู้ให้บริการรายเดียวในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งระบบมีความล่าช้าและเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือสำนักการระบายน้ำ บริษัทที่ประมูลงานของโรงบำบัดน้ำเสียก็มาแค่เก็บผลงาน กำไรไม่เป็นไรแต่ขอขึ้นว่ามีกรุงเทพมหานครเป็นลูกค้าจะได้ไปเสนอตามนิคมต่างๆ จึงมีผู้รับจ้างกรุงเทพมหานครรายชื่อเดิมๆ เพียงไม่กี่เจ้า
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก. เขตดอนเมือง ร่วมอภิปรายว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ปี 2560 เราใช้วิธี e-Bidding และผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดจะได้งานไปหลายงาน แต่ผู้ประมูลทำงานไม่เสร็จแม้แต่โครงการเล็กๆ ทำให้กรุงเทพมหานครเกิดความเสียหาย ฝ่ายบริหารควรพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับกรมบัญชีกลาง
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง ร่วมอภิปรายว่า สิ่งที่พบเห็นในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ ก็ได้รับการร้องเรียนเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แปลกที่สุด คือ สำนักการโยธาเขียน TOR แต่เขียนในลักษณะที่คนอื่นเข้ามาไม่ได้
นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก ร่วมอภิปรายว่า ตนเคยมีโอกาสได้นั่งในคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ และดูการพิจารณางบในส่วนของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย พบว่าการบริการด้านสาธารณสุขยังขาดอีกหลายอย่างที่ต้องเติมเต็ม เช่น การเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบสารสนเทศและข้อมูลซึ่งกรุงเทพมหานครจะสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดได้อีก
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การกำหนดคุณสมบัติผู้รับจ้างในการเข้าประมูลงานของกรุงเทพมหานครมี 2 มิติ มิติแรกถ้ากำหนดน้อยไปก็จะได้ ผู้รับเหมามากแต่คุณภาพของผู้รับจ้างตกหล่น ถ้างานใหญ่ กรมบัญชีกลางจะมีการขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างให้อยู่แล้ว แต่งานที่มีความล่าช้าคืองานเล็กๆ โดยกรมบัญชีกลางไม่ได้ขึ้นทะเบียนคุณสมบัติผู้รับจ้าง ซึ่งควรกำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้างการขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างสำหรับงานก่อสร้างในเมือง
ส่วนเรื่องระบบซอฟต์แวร์ หากเราใช้ระบบเดิมเราจะไม่ต้องเสียค่าย้ายระบบใหม่ แต่ข้อเสียก็คือมีข้อจำกัดและการทำงานไม่ตอบสนองกับหลายๆ อย่าง ส่วนนี้กำลังหาทางพัฒนา และจะขอตอบเป็นหนังสือเนื่องจากจะได้รายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้
ส่วนเรื่องของการประเมินราคาไม่ว่าจะเป็นสำนักอนามัยหรือศูนย์ฝึกดับเพลิง ที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจเข้ายื่นเนื่องจากราคาต่ำ นายวิศณุ ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ฝ่ายบริหารก็ไม่นิ่งนอนใจและสังเกตว่าเพราะอะไรที่ทำให้ราคาต่ำ ส่วนเรื่อง TOR ที่บอกว่ามีการล็อกสเปก ปกติเรามีการทำประชาพิจารณ์อยู่แล้วเพราะนโยบายของเราคือให้การแข่งขันอย่างโปร่งใสและเสรีอยู่แล้ว
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ที่เรากำลังทำอยู่เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร ส่วนที่พยายามแก้ไขกับกรมบัญชีกลาง ตนมองว่าดี แต่ทุกวันนี้จนถึงสิ้นปีที่ต้องใช้เวลาอีก 4-5 เดือน กรณีของระบบซอฟต์แวร์ของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครล่ม โชคดีที่ยังไม่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียประโยชน์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาอีก ถ้าหากวันนี้เราไม่รีบเตรียมการไว้เพราะเราคิดว่าระบบใหม่จะมาทันและไปลุ้นช่วงเปลี่ยนผ่านจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้ตนขอใช้พื้นที่ในสภาแห่งนี้บันทึกไว้ว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกคนที่อยู่ที่นี่ได้พูดว่าเป็นความกังวลไว้เวลาเรื่องเกิดขึ้นมาจะได้บอกว่าเราเตือนท่านแล้ว
ผู้ชมทั้งหมด 24 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 24 ครั้ง