
“รัตติกาล” เสนอ 6 แนวทางแก้ปัญหาขยะตกค้าง โอดขาดแคลนคนทำงานทั้งที่เปิดรับทุกเดือน เหตุค่าจ้างน้อยไม่จูงใจ-ความเสี่ยงสูง
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568
น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสายไหม ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหามูลฝอยตกค้างและกำหนดแนวทางการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแผนการพัฒนา 20 ปี ที่จะทำให้ขยะมูลฝอยลดลง แต่ขณะนี้ตั้งแต่เริ่มแผนยุทธศาสตร์ ปี 2565 เรายังไม่สามารถลดขยะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นับวันยิ่งติดค้างมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ผู้บริหารมีนโยบายใหม่ขึ้นมาซึ่งเป็นนโยบายที่ดี ส.ก. ทุกท่านพร้อมสนับสนุน “ขยะไม่เทรวม” หากบ้านหลังไหนไม่อยากเสียค่าขยะ 60 บาท แต่อยากจะเสียแค่ 20 บาท จะต้องเข้าโครงการก่อน 1 ส.ค.
น.ส.รัตติกาล กล่าวต่อว่า พื้นที่เขตสายไหมมีเนื้อที่ 44.50 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณขยะในพื้นที่วันละ 267.46 ตัน เรามีการบริหารจัดการการเก็บขยะมูลฝอยโดยใช้รถขยะจำนวน 40 คัน พนักงานทั้งหมด 109 คน แต่ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือขาดแคลนบุคลากร ทั้งที่เปิดรับสมัครทุกเดือน แต่มีผู้สนใจสมัครน้อย ผู้ที่สมัครเข้ามาคุณสมบัติก็ไม่ผ่านเกณฑ์ รวมถึงความเสี่ยงในการเก็บขยะและปริมาณงานก็สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังกลับมา อีกทั้งยังเป็นฤดูฝนและฤดูกาลผลไม้ ค่าแรงก็ไม่มีความจูงใจในการทำงานโดยเฉลี่ยได้ 14,450 บาทต่อเดือน รวมทุกอย่างหมดแล้วในกรณีที่ไม่มีการขาด ลา มาสาย ยังน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก
น.ส.รัตติกาล เสนอแนวทางแก้ปัญหาการจัดเก็บขยะมูลฝอย 1.มีการเกลี่ยอัตรากำลังในแต่ละเขตให้เป็นไปตามความเหมาะสม 2.เพิ่มจำนวนถังโตงเตงช่วยลดคนและเวลาในการจัดเก็บ 3.จัดจ้าง Outsource เนื่องจาก กทม. หาพนักงานเก็บขนขยะได้ยาก 4.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยเก็บขยะ 5.ส่งเสริมการคัดแยกขยะ และ 6.เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการเจ้าหน้าที่
ด้านนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ กล่าวว่า ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในซอยที่มีชุมชนอย่างหนาแน่น มีที่พักขยะในพื้นที่ของเอกชน เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าของอยากใช้พื้นที่ทำอย่างอื่นจึงยกเลิก เมื่อรถขยะจะเข้าไปเก็บก็สามารถเก็บได้แค่ในช่วงบ่าย กลางคืนจะเก็บประชาชนก็บอกว่าหนวกหู เก็บเช้ารถก็ติด การคัดแยกขยะต้องใช้จำนวนถังขยะเพิ่ม ชาวบ้านก็งงว่าขนาดเทรวมยังไม่มีพื้นที่หากแยกขยะจะหาพื้นที่จากไหนมาวาง
ด้านนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก. เขตดอนเมือง กล่าวว่า ปัญหาขยะนั้นมีหลายประเด็น ในพื้นที่ของตนเริ่มมีการแยกขยะอย่างเป็นระบบสามารถมีรายได้ถึงเดือนละ 1 แสนบาท การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มของคนทำงาน หากวันนี้ขยะลดลง มีการคัดแยกขยะได้ดีขึ้นค่าใช้จ่ายของ กทม. ก็จะลดลง
น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก. เขตคลองสามวา กล่าวว่า เขตมีปัญหารอบการจัดเก็บขยะทั้งจำนวนรถและจำนวนคนที่ไม่เพียงพอ สิ่งที่อยากจะฝากไปยังผู้บริหารคือเรื่องจำนวนผู้ทำงาน อยากให้เพิ่มแรงงานที่มาช่วยงานในส่วนนี้
นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก กล่าวว่าวันนี้เราเผชิญปัญหาเรื่องบุคลากรขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานแรงจูงใจค่าตอบแทน ตอนนี้เราน่าจะหาเครื่องมือมาทดแทนได้
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแยกขยะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกรุงเทพฯ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากถ้าเป็นเรื่องง่ายคงทำเสร็จไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขยะเกิดจากพวกเราเป็นคนก่อไม่ได้มาจากธรรมชาติ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องช่วยกันแยกขยะ อีกหน่อยขยะจะมีมูลค่าไม่ว่าจะเป็นขวดหรือขยะเปียกก็ตาม เราหวังว่าในอนาคตถ้าเราแยกขยะประชาชนเข้าใจสุดท้ายจะไม่มีขยะให้เราเก็บ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ปัจจุบันเรามีขยะเฉลี่ย 1 วัน 9,397 ตัน ขณะที่มีเรื่องร้องเรียน 13,965 เรื่อง พนักงานขับรถมีอัตราว่างอยู่ 220 อัตรา พนักงานเก็บขนว่าง 423 อัตรา เหตุผลอย่างที่ทราบคืองานหนัก คนมาสมัครน้อย ติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติ รวมถึงรถเก็บขยะใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพที่เราจะต้องแก้ปัญหาต่อไป
ผู้ชมทั้งหมด 22 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 22 ครั้ง