
“ณภัค” นำทีมขันน็อต กทม. เร่งแก้ปัญหาไฟส่องสว่างดับ ชี้ซ่อมช้า-คุณภาพต่ำ กระทบความปลอดภัยประชาชน
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา นายณภัค เพ็งสุข ส.ก. เขตลาดพร้าว เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่สาธารณะชำรุดขัดข้องโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ
นายณภัค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา มีเหตุไฟดับในพื้นที่ลาดพร้าวเป็นวงกว้างซึ่งประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงชุมชนในระแวกนั้นกว่า 30 ชุมชม เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุอันตรายขึ้น ประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก วันที่ 6 มิถุนายน 2568 ยังไม่ได้แก้ไข วันที่ 7 มิถุนายน 2568 แจ้งไปยังสำนักการโยธา จนมาถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2568 ก็ยังไม่ได้แก้ไข ตนจึงได้ปรึกษากับรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและขอบคุณท่านที่รับปากจะดำเนินการแก้ไขในวันถัดไป จนมาถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2568 เข้าร่วมประชุมกับรองผู้อำนวยการสำนักการโยธาและพอช่วงเย็นทางทีมงานก็เข้ามาแก้ไขทันที
ทั้งนี้ ระยะเวลาผ่านมาอีก 1 เดือน วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ไฟดับเหมือนเดิมแต่เกิดขึ้น 5 พื้นที่ ถือว่าเป็นครั้งที่สองที่ไฟดับ ซึ่งใช้เวลาในการประสานงานและแก้ไขเพียง 3 วัน อยากตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์ก่อนซ่อมแซมถึงมีความล่าช้า ในช่วงแรกที่ใช้ระยะเวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และส่วนที่สอง ประชาชนทั่วไปยังสับสนว่าไฟส่องสว่างส่วนใดที่ดูแลโดยการไฟฟ้าและส่วนใดดูแลโดยสำนักการโยธา ซึ่งประชาชนจะรับทราบข้อมูลตรงนี้ได้อย่างไร ส่วนที่สาม การประสานงานที่ล่าช้าทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกิดความล่าช้าเกือบ 4-5 วันเราจะสื่อสารภายในหน่วยงานได้อย่างไรเพื่อทำให้การทำงานนั้นรวดเร็วขึ้นจากเดิม
นายณภัค กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอต่อสำนักการโยธา คือ 1. ควรมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเร่งด่วนและไม่ควรแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนเกิน 4-5 ชั่วโมง และรวมถึงการสำรองอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อไว้ซ่อมแซมบำรุงรักษาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น 2. กรุงเทพมหานครอาจจะบูรณาการร่วมกับการไฟฟ้าหรือร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อกำหนดแผนร่วมมือที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ควรแยกหน้าที่จนทำให้การประสานงานและการแก้ไขล่าช้าเกินไป และตนอยากให้ทางฝ่ายบริหารให้ความรู้กับประชาชนว่าถ้าเรามีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับการไฟฟ้าหรือไฟฟ้าดับเราควรจะแจ้งไปที่หน่วยงานใดได้โดยตรง
น.ส.ปิยะวรรณ จระกา ส.ก. เขตสวนหลวง ร่วมอภิปรายว่า โคมไฟส่องสว่างในพื้นที่ กทม. แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือโคมไฟ LED ที่สำนักการโยธาเป็นผู้ดูแลซึ่งการไฟฟ้านครหลวงมีหน้าที่ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเพียงเท่านั้นแต่ไม่สามารถที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขตัวโคมไฟได้เนื่องจากโคมไฟ LED สำนักการโยธารับประกันแก้ไขซ่อมแซมทั้งหมด 5 ปี ส่วนที่สอง คือไฟส้ม การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ดูแล ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของกรุงเทพมหานครแต่เมื่อเทียบสัดส่วนการแก้ไขไฟฟ้าที่ชำรุดหรือการติดตั้งเปลี่ยนโคมไฟใหม่ทางการไฟฟ้านครหลวงมีความล่าช้าและมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทางสำนักการโยธาที่ทำการติดตั้งไป
นายอานุภาพ ธารทอง ส.ก. เขตสาทร ร่วมอภิปรายว่า กรุงเทพมหานครเปลี่ยนไฟส่องสว่างเป็น LED เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างเยอะในงบประมาณปีที่แล้วที่เราพิจารณาเรื่องของโครงการต่างๆ ซึ่งทางผู้บริหารสำนักการโยธาต้องการที่จะเปลี่ยนเป็นระบบ IOT สามารถตรวจสอบไฟที่เราเปลี่ยนใหม่ได้ทั้งหมดว่าจุดไหนมีไฟที่ติดหรือดับรวมถึงสามารถปรับความส่องสว่างของไฟได้ แต่ในทางปฏิบัติตอนนี้ไฟที่เปลี่ยนไปแล้วติดตอนกลางวันดับตอนกลางคืน และยังไม่ได้รับการแก้ไขหลายจุดโดยไม่แน่ใจว่าระบบ IOT ตอนนี้มีประโยชน์หรือว่าใช้งานอย่างไรบ้าง กรุงเทพมหานครมีข้อมูลหรือความชัดเจนหรือไม่ว่าไฟเฟสที่หนึ่งเปลี่ยนตรงไหนบ้าง เฟสที่สองเปลี่ยนตรงไหน อยากให้ทางกรุงเทพมหานครรวมความชัดเจนว่าแต่ละจุดมีการแก้ไขอย่างไร
นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก. เขตบางรัก อภิปรายว่า กรุงเทพมหานครเดินมาถูกทางแล้วที่พยายามจะเปลี่ยนไฟ LED ทั้งถนนสายหลักหรือสายรอง แต่ปัญหาคือความทนทานค่อนข้างต่ำ อยากเสนอแนะไปยังกรุงเทพมหานครในการกำหนดคุณภาพรวมไปถึงระยะเวลาการดำเนินการแก้ไข
น.ส.นภัสสร พละระวีพงศ์ ส.ก. เขตบางกะปิ อภิปรายว่า ช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม มีเหตุไฟดับตั้งแต่ ซอยนวมินทร์ 21 จนถึงบริเวณแยกโพธิ์แก้ว เป็นระยะเวลาห้าวัน ไฟฟ้าที่ส่องสว่างในชุมชนดับเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นถัดมาอีกหนึ่งเดือนคือเดือนมิถุนายน ตั้งแต่วันที่ 11-14 มิถุนายน 2568 ไฟฟ้าดับตั้งแต่ลาดพร้าว 101 ถึงบริเวณโพธิ์แก้ว 3 เป็นบริเวณวงกว้าง ใช้เวลาซ่อม 4-5 วันเช่นเดียวกัน ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่าตอนนี้การไฟฟ้าดูแลอยู่หรือไม่ และทางสำนักการโยธามีการจัดการอย่างไร เพราะการไฟฟ้าก็จะแจ้งกับประชาชนที่มาร้องเรียนว่าไม่ได้ดูแลในส่วนนี้แล้ว
นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก. เขตบางเขน อภิปรายว่า ในพื้นที่เขตบางเขนก็มีปัญหาในเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างที่ถนนเทพารักษ์เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ขอบคุณทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ประสานงานแก้ไขได้เสร็จสิ้นทุกครั้ง ในพื้นที่นี้มีการขโมยสายไฟฟ้าอยู่เสมอ อยากเสนอแนะถ้าหากเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสามารถนำไปขายได้ให้เป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถนำไปขายได้จะเป็นไปได้หรือไม่
นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก. เขตคลองสาน ร่วมอภิปรายว่า เฟสหนึ่งการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างแบบมีตัวโหนด 400 ดวง เป็นเฟสที่ห่วยที่สุด และเฟสสามซึ่งเราอาจจะได้ของที่ไม่มีคุณภาพและได้ผู้รับจ้างที่ไม่ดีในพื้นที่ของตนเอง ถึงจะมีการรับประกันห้าปี แต่เชื่อว่าซ่อมเกิน 400 ครั้งบางดวงซ่อมเป็น 10 ครั้ง ต้องคอยแจ้งสำนักการโยธาเพื่อแจ้งผู้รับจ้างมาซ่อมเป็นประจำ ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาดูว่าเงินที่เราเสียไปหลายปีมันคุ้มค่าหรือไม่
นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก. เขตบึงกุ่ม อภิปรายขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันโซนตะวันออก เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตคันนายาว โดยเฉพาะเขตบึงกุ่มคาบเกี่ยวกับเขตบางกะปิ เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาก็เกิดเหตุไฟดับและใช้ระยะเวลาในการซ่อมค่อนข้างนานทำให้เกิดปัญหากับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากผู้รับเหมาใช้ระยะเวลาในการเข้ามาแก้ไขค่อนล่าช้า
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้รับข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงว่าจำนวนหลอดไฟในกรุงเทพฯ มีประมาณ 390,000 ดวง แต่ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. มีเพียง 219,433 ดวง ตอนนี้ในระบบที่ได้รับแจ้งมา ดับอยู่ประมาณ 1,799 ดวง ปัญหาและสาเหตุที่พบอยู่บ่อยคือปัญหาอุปกรณ์เสียหายประมาณ 1,200 ดวง เช่น สายไฟชำรุดเสื่อมสภาพ การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า หลอดไฟหมดอายุ อุปกรณ์เก่าเสียหาย ส่วนปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ประมาณ 600 ดวง เกิดจากแหล่งจ่ายไฟของการไฟฟ้า ฝนตก น้ำท่วม สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปกรณ์เสียหรือการลักลอบตัดสายไฟไปขาย
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น นายวิศณุ กล่าวว่า การจัดการวัสดุอุปกรณ์ เร่งจัดหาและเปลี่ยนที่เสียหายพร้อมจัดซื้อวัสดุให้เพียงพอต่อการใช้งาน และประสานความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการแก้ไข ป้องกันบำรุงรักษาโดยสำรวจ ปรับปรุงและเปลี่ยนสายไฟในโซนเสียก่อนที่จะเกิดปัญหา พร้อมจะจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาไฟดับในพื้นที่วิกฤต เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างและเส้นทางสำคัญ จัดทำระบบแจ้งเหตุไฟดับผ่านแอปพลิเคชัน ขอยอมรับเรื่องการทำงานล่าช้า แต่ทีมงานออกไปสำรวจทุกวัน ไม่มีว่าง ส่วนคำถามว่า “ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องร้องเรียนไปที่ไหนเมื่อเกิดความเสียหายของไฟฟ้า?” ตอนนี้เรากำลังทำแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ให้ประชาชนแจ้งความเสียหายได้ง่ายที่สุด
ส่วนเรื่องเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าเป็นระบบ IOT เฟสหนึ่ง ต้องยอมรับว่าผู้รับจ้างทำงานไม่ได้ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ สำนักการโยธาอยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งเป็นผู้ทิ้งงาน เนื่องจากมีหลายครั้งที่ทำไม่ได้ตามผลงานซึ่งทางเราได้มีการกำกับดูแลและติดตาม ที่รับประกันว่าจะทำให้เสร็จภายใน 3 วันมีการแจ้งกลับไปแล้วไม่มาทำ เราจะยึดเงินค้ำประกันและเรียกร้องค่าเสียหาย
นายณภัค กล่าวขอบคุณรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการสำนักการโยธา และหน่วยงานเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหา
ผู้ชมทั้งหมด 314 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 16 ครั้ง