ส.ก. จอมทอง ขอให้ กทม. ตรวจสอบคุณภาพน้ำคูคลอง ย้ำต้องตามเกณฑ์มาตรฐาน
(15 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจคุณภาพน้ำในคูคลองพื้นที่กรุงเทพมหานครและดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยกล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานครมีคูคลองจำนวนกว่า 1,682 แห่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการระบายน้ำ การเดินทาง การท่องเที่ยว แต่พบว่ามีคูคลองจำนวนมากที่มีสภาพน้ำเน่าเสีย สกปรก ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ก่อให้เกิดโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชน โดยปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ น้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำเน่าเสียจากการเกษตร และน้ำเน่าเสียจากชุมชน เช่น ครัวเรือน อาคารที่พักอาศัย ร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานที่ราชการ ฯลฯ ซึ่งน้ำเสียดังกล่าวหากไม่ผ่านการบำบัดที่ถูกวิธีก่อนปล่อยทิ้งลงในคูคลองจะก่อให้เกิดปัญหากับคุณภาพน้ำในคูคลอง ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน การเดินทาง การท่องเที่ยว ระบบนิเวศวิทยา ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้สภาพน้ำในคูคลองใสสะอาด มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และมีทัศนียภาพที่น่ามอง จึงขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจคูคลองในพื้นที่และฟื้นฟูแก้ไขคุณภาพน้ำในคูคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
.
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ได้แก่ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ กล่าวว่า อยากให้กรุงเทพมหานครสำรวจคุณภาพน้ำในคูคลอง และดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเขตทุ่งครุจำนวน 48 คลอง ลอกคลองเป็นที่เรียบร้อยแล้วภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมทางฝ่ายบริหารที่ดำเนินการสำเร็จเร็วกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในครั้งแรก 4 ปี และรบกวนฝ่ายบริหารจัดการสะพานข้ามคลองผิดกฎหมายบริเวณคลองบางมด ซึ่งเป็นสะพานที่ไม่ได้มาตรฐานที่อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรในบริเวณนั้นได้
.
ต่อมา นายอานุภาพ ธารทอง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสาทร สนับสนุนญัตตินี้เช่นเดียวกัน โดยยกตัวอย่างปัญหาน้ำเน่าในคลองช่องนนทรี บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องคนจรจัด เรื่องน้ำเน่าเหม็น ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการในสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา เห็นด้วยกับญัตติในหัวข้อดังกล่าว โดยแนะนำให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดกวดขันตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียที่ต้นทาง ผลักดันกฎหมายให้เข้มแข็งมากขึ้น
.
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ขอบคุณญัตตินี้ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกเขต และทางกรุงเทพมหานครเองก็มิได้นิ่งนอนใจ ปัจจุบันได้มีโครงการบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการอยู่ตลอด ครอบคลุมปริมาณน้ำเสียทั้งหมดประมาณ 50% และจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป รวมทั้งการดูแลน้ำเสียจากต้นทาง ทั้งนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า คลองชั้นในต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย ก็ได้วางแผนการดำเนินโครงการเพิ่มกำลังในการบำบัดน้ำเสียให้ครบ ทั้ง 8 แห่งที่มีอยู่ และกำลังดำเนินการสร้างอีก 4 แห่ง สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ได้เน้นย้ำในส่วนที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของคลองบางมดได้สั่งรื้อแล้ว แต่ปัจจุบันประชาชนมี 2 ฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอยู่ในช่วงตั้งคณะกรรมการพิจารณากับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องรื้อออกเพราะเป็นสะพานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะดำเนินการสร้างใหม่ในจุดไหน ต้องให้หารือร่วมกับประชาชนอีกครั้ง ส่วนเรื่องคลองช่องนนทรี ตอนนี้เฟส 3 ดินเลนเยอะทำให้ส่งกลิ่นรบกวน ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไล่น้ำเสียออกจากคลองดังกล่าว
.
ในการนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบและให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
ผู้ชมทั้งหมด 52 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง