skip to Main Content
ส.ก.พญาไท ถามความพร้อมรับมือจราจรโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ส.ก.พญาไท ถามความพร้อมรับมือจราจรโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

📌(8 ม.ค. 68) นายวิพุธ ศรีวะอุไร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
⭐️นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า เนื่องจากปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายประการทั้งทางเศรษฐกิจ อนามัย สังคม ปัญหามลพิษทางอากาศ ฯลฯ และอยู่ในนโยบายเดินทางดีของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใน 3 ประเด็นว่าในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารได้มีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆที่ตัดผ่านย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร ฝ่ายบริหารมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาจราจรและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร และฝ่ายบริหารมีการประชาสัมพันธ์ถึงเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าสายต่างๆที่มีเส้นทางผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ให้ประชาชนที่ต้องสัญจรในเส้นทางดังกล่าวทราบเพื่อวางแผนการเดินทางแล้วหรือไม่ อย่างไร
.
✏️นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดเป็นเรื่องแรกๆ ที่ได้รับการแก้ไข และเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 17 หน่วยงาน หัวใจหลักคือการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางกรุงเทพมหานครเองได้ปรับปรุงทางเท้า ปรับผิวถนนในตรอกซอกซอยให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการกระจุกตัวในถนนสายหลัก และใช้ทางลัดได้สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
.
✏️นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาด้านการจราจรนั้นต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน และเมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลแล้ว แบ่งปัญหาได้ 3 ด้านด้วยกันคือ 1. เรื่องวินัยจราจร อาทิ การจอดรับส่งนักเรียน การจอดรับส่งสินค้า รถแท็กซี่ สามล้อ รอรับผู้โดยสาร รถบัสที่จอดรอนักท่องเที่ยว 2. ลักษณะกายภาพถนน อาทิ ปัญหาด้านจุดกลับรถ คอสะพาน ทางขึ้นลงอุโมงค์ การก่อสร้างที่รบกวนผิวจราจร 3. การบริหารจัดการจราจร อาทิ จังหวะของสัญญาณไฟไม่สัมพันธ์กับปริมาณรถ
.
โดยในเรื่องแรกนั้น กรุงเทพมหานครร่วมมือกับตำรวจในการนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมาช่วยในการกวดขันวินัยจราจร ในจุดห้ามจอดต่างๆ ประเด็นที่สองการปรับปรุงทางกายภาพ ได้ปรับปรุงทำถนนผายปากไปหลายจุด รวมถึงการปรับปรุงทางแยกต่างๆ เส้นนำทางที่ช่วยให้การใช้ถนนชัดเจนมากขึ้น อีกเรื่องคือการร่วมมือกับไจก้า (Jica)ในการทำ Area Traffic control การควบคุมสัญญาณไฟให้มีความสัมพันธ์กับปริมาณรถบริเวณถนนประดิพัทธ์ พหลโยธิน ราชวิถี พระรามที่ 6 ซึ่งสามารถเพิ่มความเร็วของรถได้ 10 – 30% นอกจากนี้สนข. ได้วิเคราะห์จุดฝืดจำนวนทั้งสิ้น 127 จุด โดยอยู่ในพื้นที่ กทม. 99 จุด ส่วนจุดอื่นอีก 28 จุด เป็นหน่วยงานอื่นดูแล เช่น การรถไฟ กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษ ในส่วนของพื้นที่การดูแลของกทม. ได้ดำเนินการไปแล้ว 50 จุด คงเหลือที่ยังไม่แล้วเสร็จของปี 67 จำนวน 49 จุด และวิเคราะห์เพิ่มเติมจาก Traffy foundue และสำนักงานเขตอีก 22 จุด โดยได้วิเคราะห์แล้วว่า เมื่อโครงการปรับปรุงดังกล่าวในปี 67 แล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความเร็วของการจราจรได้ถึง 25%
.
อีกส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมไปพร้อมๆกันคือ การใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการใช้ Non – motorized Transportation การปรับปรุงทางเท้า ไฟส่องสว่าง ให้ประชาชนสามารถเดินได้ เดินดี การปั่นจักรยาน การให้บริการรถรับส่ง BMA Feeder เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว การสร้างป้ายรถเมล์ดิจิตอลทำให้ไม่ต้องรอรถเมล์นาน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบริเวณหน้าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้มีการนำรถ Shuttle Bus ระบบไฟฟ้ามาอำนวยความสะดวกในชั่วโมงเร่งด่วน
.
ในส่วนของการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวน 561 ทางแยก การติดตั้ง และปรับปรุงระบบควบคุมไฟจราจรทางแยกแบบ Adaptive Signaling ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 72 ทางแยก จะแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคมนี้ และจะดำเนินการในทางแยกอื่นๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในปี 2569 โดยมีแผนการดำเนินการเพิ่มเติมอีก 200 ทางแยก ตลอดจนการสังเกตุและสั่งการเพื่อการบริหารจัดการเมืองโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิดไฟส่องสว่างเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมถนน เป็นต้น
.
⭐️จากนั้น นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท สอบถามเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดการจราจรทางฝ่ายบริหารจะแก้ไขอย่างไร เนื่องจากในช่วงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เป็นย่านที่มีรถหนาแน่น และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า กทม. ทำอะไรไปบ้างแล้ว
.
✏️รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลกำหนดเงื่อนไขให้รฟม. เสนอมาตรการลดผล กระทบด้านการจราจรก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินโครงการ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจราจรเพื่อกำหนดเส้นทางเลี่ยง การจัด Shuttle Bus วิ่งรับส่งในเส้นทางที่มีการก่อสร้างเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น โดยกรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือกับรฟม. ให้ปิดช่องจราจรเท่าที่จำเป็น และเร่งการคืนผิวจราจรรวมทั้งประชาสัมพันธ์การปิดช่องจราจรและทางเลี่ยงเส้นทางก่อสร้างให้ประชาชนทราบล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น จส. 100 สวพ. 91 สายด่วนจราจร และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้น
.
ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการช่วยเปิดช่องจราจรขาเข้าชิดทางเท้าให้เป็นถนนชั่วคราว บริเวณสวนป่าวิภาวดีระยะทางประมาณ 250 เมตร ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นผิวการทำให้เกิดการคล่องตัวมากขึ้น ตามแผนการดำเนินงานจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2568 ผลกระทบเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องจะกินเวลา 7 เดือน โดยประมาณ
.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวปิดท้ายว่าหลังจากนี้ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ในส่วนของการปิดถนนตลอดจนการเพิ่มช่องทางจราจรต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงข้อมูลที่สำคัญในการใช้รถใช้ถนนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการส่งต่อไปยังสำนักงานเขต หรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
———————————————-

ผู้ชมทั้งหมด 24 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 12 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top