skip to Main Content
พีรพล ทวงถาม “วัคซีนไข้หวัดใหญ่หายไปไหน” หลังผู้ป่วยพุ่ง 160,000 ราย ปชช.ต้องจ่ายเองเข็มละ 600-1,200 บ. ชี้ วัคซีนฟรียังเข้าไม่ถึง

พีรพล ทวงถาม “วัคซีนไข้หวัดใหญ่หายไปไหน” หลังผู้ป่วยพุ่ง 160,000 ราย ปชช.ต้องจ่ายเองเข็มละ 600-1,200 บ. ชี้ วัคซีนฟรียังเข้าไม่ถึง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท ได้มีกระทู้ถามสดเรื่อง การเตรียมการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของกรุงเทพมหานครว่า จากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดรุนแรงตามรายงานของแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ว่าในช่วงเวลา 1 ม.ค. ถึง 1 มี.ค. 2568 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 160,000 ราย
.
จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นกว่าสถิติย้อนหลัง 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น จึงอยากสะท้อนว่าประชาชนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก แต่การเข้าถึงวัคซีนนั้น ประชาชนต้องมีเงินไปฉีดวัคซีนในราคาเข็มละ 600 ถึง 1,200 บาท จึงเรียนถามทางกรุงเทพมหานครว่ามีการเตรียมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงไว้อย่างไร
.
ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สัดส่วนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น โดยมีผู้ป่วยสะสม 29,769 ราย มีอัตราเพิ่มขึ้นจากค่ามัธยฐานของปีที่แล้วประมาณ 6 เท่า โดยผู้ป่วยกระจุกตัวอยู่ที่สถานพยาบาล ชุมชนแออัด รวมไปถึงโรงเรียน ทางกทม. มีระบบเฝ้าระวังและการตรวจสอบที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ จะมีการส่งข้อมูลหากมีการระบายของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะมีกลุ่มสอบสวนโรคลงไปตรวจสอบ
.
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนข้อมูล พบว่า กลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนคือ เด็กที่มีอายุ 5-9 ปี ซึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดวัคซีนให้ จึงมีการกำหนดให้มีการจัดสรรเพิ่มเติม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้รับทราบ
.
โดยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งกทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีน จำนวน 10,000 โดส และได้มีปฏิบัติการเชิงรุกเข้าไปในชุมชนในช่วงวันที่ 17 มี.ค. ถึง 20 เม.ย. 2568

กลุ่มที่ 2 คือ โครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียน เพราะจากการเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของไข่หวัดใหญ่ พบว่า ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนได้ จึงมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม จำนวน 66,689 โดส
.
กลุ่มต่อมาคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดสรรวัคซีน จำนวน 18,130 โดส และคาดว่าจะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม จำนวน 340,000 โดส และกรณีประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หากอยากเข้ารับวัคซีน ต้องเสียเงินเข็มละ 600-1,200 บาท
.
ต่อมาคือ โครงการ เอไอเอ แชร์ริ่ง ที่มีการจัดสรรวัคซีนให้ จำนวน 10,000 โดส และมีการสื่อสารเรื่องไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดในสถานศึกษา ชุมชน ฯลฯ โดยอาสาสมัครจากสาธารณสุข
.
ด้าน นายพีรพล กล่าวว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ วัคซีน ที่ได้มาจาก สปสช. จำนวน 10,000 โดสนั้นไม่เพียงพอ และถ้ายังตั้งรับอยู่ที่ศูนย์สาธารณสุข แล้วทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้เป็นโรคธาลัสซีเมีย ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน หรือหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มคนเหล่านี้จะเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ไหวหรือไม่
.
นายพีรพล กล่าวต่อว่า ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเสนอว่าให้มีการเดินเท้าเข้าไปในชุมชน เพื่อฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก และกลุ่มเปราะบางอื่น อย่างไรก็ดี นายพีรพล ถามเพิ่มว่า หากวัคซีน จำนวน 10,000 กำลังจะหมดอายุในเดือนพฤษภานี้ วัคซีนทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหน
.
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช. ให้วัคซีนมาเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยสำนักอนามัยได้ทำการฉีดวัคซีน ทั้งเชิงรับ และเชิงรุก โดยจะไปสำรวจล่วงหน้าก่อนว่าในแต่ละชุมชนมีกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สะดวกมารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีน จำนวนเท่าใด
.
จากนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ตามไปฉีดให้ถึงบ้านตามที่ร้องขอมา แต่ ไม่ใช่ทุกคน โดยสามารถนำลูกหลานไปฉีดที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่า วัคซีนมีเหลือทิ้งหรือเปล่า หรือฉีดไปแล้วหรือยัง ต้องบอกว่าวัคซีนเหล่านี้คือ วัคซีนตามฤดูกาล (seasonal vaccine) สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข จะส่งมาให้ในช่วงเดือนพฤษภาคม
.
และมีการกำหนดว่าต้องฉีดให้หมดโดส ภายในเดือนสิงหาคม จากนั้น ทางสำนักอนามัยฯ ต้องรายงานยอดกลับไปให้ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่วัคซีนที่จะฉีดได้ทั้งปี หรือทุกวัน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เพราะจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ของวัคซีนจึงเป็นเหตุผลที่ต้องฉีดเป็นช่วงฤดูกาล ก่อนการแพร่ระบาด
.
นายพีรพล ถามต่อว่า วัคซีนต้องฉีดตามฤดูกาล แต่จริงๆ แล้วท่านมีวัคซีนอยู่ในมือหรือไม่ ตนได้มีการประชุมที่สำนักงานเขต และถามว่ามีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ศูนย์สาธารณสุขหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี
.
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนสงสัยว่า สรุปแล้วมีวัคซีนอยู่จริงหรือเปล่า ถ้าตนไม่ทวงถามจะมีคนออกไปสำรวจ และฉีดวัคซีนให้กับประชาชนหรือไม่ ท่านต้องดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ตั้งที่ศูนย์สาธารณสุข และรอให้ประชาชนมาหา
.
ตนมีคำถามอีก 1 คำถามคือ วัคซีน 10,000 โดส ที่จะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม แต่ข้อมูลที่ได้รับคือ ยังมิทันจะกรกฎาคม เข้าเดือนพฤษภาคม มิถุนายน วัคซีนก็หมดอายุแล้ว จึงอยากถามว่าประชาชนได้รับวัคซีนแล้วหรือยัง
.
นายพีรพล กล่าวต่อว่า คำถามต่อมาคือเรื่องของวัคซีนที่จะได้ 200,000 กว่าโดส จะได้เมื่อไหร่ จะฉีดให้ประชาชนอย่างไร และมีแผนที่จะดำเนินการให้เสร็จเมื่อไหร่
.
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ปกติรอบจัดสรรวัคซีนจะเป็นไปในลักษณะนี้ เช่น มีการจัดสรรวัคซีนในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน หรือตุลาคม 2567 โดยจะพิจารณาฉีดเป็นเชิงรุก ทั้งที่บ้านและพื้นที่ดูแล
.
สิ่งที่ท่านสมาชิกพูด อาทิ อาจต้องมีการคิดจัดสรรวัคซีนเพิ่ม วัคซีนยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเปราะบาง หรือเมื่อถูกถามว่าได้ฉีดวัคซีนไปหมดหรือยัง แล้วคำตอบคือไม่มี ทางกทม.ขออนุญาตรับไปพิจารณาต่อทั้งหมดที่ท่านสมาชิกกล่าว
.
นายพีรพล กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงทุกคนถือเป็นประชาชนคนไทย ต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านต้องหันกลับมาดูแลทุกคนให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
.
#ประชุมสภากทม. #สภากทม. #สภากรุงเทพมหานคร #ประชุมสภากรุงเทพมหานคร #ไข้หวัดใหญ่ #วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ผู้ชมทั้งหมด 186 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top