skip to Main Content
เฮียล้าน เร่งกทม.หามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ระบาด ทำลายระบบนิเวศ

เฮียล้าน เร่งกทม.หามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ระบาด ทำลายระบบนิเวศ

ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 ก.ค.67) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ
.
“ขณะนี้พบปลาหมอคางดำหรือปลาหมอสีคางดำเข้ามาอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณเขตจอมทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งปลาหมอคางดำสามารถเติบโตได้ในทุกสภาพน้ำ ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ปลาชนิดนี้สามารถกินได้ทั้งพืช สัตว์ กุ้ง ปลา ตามแม่น้ำ และสามารถย่อยอาหารได้ดี จึงทำให้มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นไข่ของปลาหมอคางดำยังมีความแข็งแรงมากอีกด้วย ถือเป็นปลาที่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งถ้าเราไม่เร่งกำจัดปลาชนิดนี้จะทำให้ปลาต่าง ๆ เช่น ปลานิล ปลาไหล ปลาซิว ปลาเข็ม หายไปจากธรรมชาติเพราะโดนปลาหมอคางดำกินหมด
จึงเห็นว่าปลาหมอคางดำกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ รวมถึงชาวประมงและเกษตรกรไทย สำนักงานเขตควรมีการประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา มีสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจการแพร่พันธ์ในแหล่งน้ำลำคลอง,แต่ละเขต มีการรายงานผล และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ” ส.ก.จอมทอง กล่าว
.
จากนั้น นายกิตติพงษ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ด้วย
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ขณะนี้ ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวกรุงเทพมหานครเช่นกัน สำหรับในกทม.มีผู้จดทะเบียนเป็นชาวประมงประมาณ 1,800 หลังคาเรือน ในพื้นที่บางขุนเทียนมีชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดประมาณ 900 คน ซึ่งเบื้องต้นกทม.มีการหารือกับกรมประมง และออกมาตรการมา 6 มาตรการ โดยเป็นมาตรการกำจัดและเฝ้าระวังการระบาด และมีการลงพื้นที่คุยกับชาวประมง ได้รับข้อมูลว่าปลาที่มีขนาดใหญ่ 5-6 นิ้ว ชาวบ้านสามารถนำไปขายได้ แต่ที่เป็นปัญหาเลยคือปลาหมอคางดำที่มีขนาดเล็ก 4 นิ้วลงไป ซึ่งพยายามหามาตรการกำจัด เช่น การนำไปประกอบอาหาร หากเป็นปลาขนาดเล็กอาจจะนำไปทำเป็นปลาร้า และปลาขนาดใหญ่ขึ้นมาสามารถทำเป็นปลาหมอฟูหรือเมนูอื่นต่อไป และจะมีการประชาสัมพันธ์ไปยังร้านอาหารภายในพื้นที่ให้สามารถนำเมนูปลาหมอคางดำที่คิดค้นโดยเชฟมืออาชีพไปประกอบอาหารได้
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นสำนักพัฒนาสังคมได้ประสานไปยังสำนักงานเขต 10 เขต ที่มีพื้นที่การประมงสอบถามถึงความเสียหาย และปลัดกรุงเทพมหานครก็ได้สั่งการเพิ่มเติมไปยังผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่เป็นพื้นที่ประมงจดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งกรมประมงได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลางถึงเกณฑ์การประกาศเป็นสาธารณภัยและภัยบัติ หากได้รับเกณฑ์ตอบกลับมาแล้วนั้น กรุงเทพมหานครก็พร้อมทำเรื่องเยียวยาให้กับประชาชนที่เข้าเกณฑ์ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
—————————
   

ผู้ชมทั้งหมด 218 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top