skip to Main Content
สภากทม.เร่งรัดกทม.แก้ไขปัญหาขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงให้ครบทุกเขต

สภากทม.เร่งรัดกทม.แก้ไขปัญหาขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงให้ครบทุกเขต

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 เม.ย.67) นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ของสถานีดับเพลิง รวมทั้งภารกิจของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
.
“ตามที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุได้เคยเสนอเรื่องการขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิง ซึ่งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังไม่สามารถจัดซื้อรถดับเพลิงได้เนื่องจากกรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงในอดีต ทำให้ในปัจจุบันทุกเขต ทุกสถานีดับเพลิงมีปัญหาขาดแคลน รวมถึงเครื่องช่วยชีวิตที่มีอยู่ยังไม่ทันสมัย ไม่เพียงพอในการป้องกันชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ทันท่วงที จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับมาทบทวนภารกิจใหม่ ผู้ปฏิบัติงานควรมีความแข็งแกร่ง ได้รับการฝึกฝนที่เหมาะสม เพราะเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ภัยที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้มีความรุนแรงมากขึ้น และมีภัยใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ เช่น เพลิงไหม้รถ EV ไฟไหม้ตึก คอนโด อาคารสูง ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการดับเพลิงตามปกติได้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่พิเศษ ฝ่ายบริหารจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะภัยที่เกิดขึ้นหมายถึงชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน” นายพีรพล กล่าว
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายณรงค์ รัสมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตหนองจอก นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตธนบุรี นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสาน นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสวนหลวง นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตห้วยขวาง และนายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องของการศึกษาภัยใหม่ๆนั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำแผนป้องกันอุบัติภัย 5 ภัย แต่ในปี 66 ผู้ว่าฯ ได้มีคำสั่งให้กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันถึง 9 ประเภทภัย ได้แก่ แผนอัคคีภัย แผนอุทกภัย แผนอาคารถล่มอันอาจเกิดจากแผ่นดินไหวและเกิดจากอัคคีภัย แผนภัยแล้ง แผนวาตภัย แผนสารเคมีรั่วไหล แผน PM2.5 แผนโรคติดต่อและอุบัติใหม่ และแผนอุบัติเหตุในการขนส่งสาธารณะและคมนาคม ในเรื่องการสั่งซื้อblock wall เพื่อดับเพลิงรถไฟฟ้า ผ้าคลุมดับเพลิง เครื่องดับเพลิงแบบสะพายหลังนั้น จะทำการสั่งซื้อในปีงบประมาณ 68 ส่วนเรื่องของโดรนดับเพลิงจะต้องขอทำการศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง
.
“เดิมกทม.มีสถานีปฏิบัติการดับเพลิงรวม 48 แห่ง และจะมีเกิดขึ้นใหม่อีก 3 แห่ง รวม 51 เขตในปีนี้ เรื่องความล่าช้าของประปาหัวแดงขอยอมรับว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการแก้ไขข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อจัดการประปาหัวแดงภายในเดือนพ.ค. จึงทำให้ต้องมีการหารือกับการประปานครหลวงเพื่อจ้างจัดหาประปาหัวแดงใหม่ทั้งหมดโดยที่ไม่ใช่การออกเงินคนละครึ่ง ร่วมกับการแก้ไขข้อบัญญัติใหม่โดยเพิ่มคำว่ากิจการสาธารณะเข้าไป ซึ่งกทม.ไม่มีคำนี้ ทำให้คณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนเห็นว่าไม่สามารถทำได้ ส่งผลโครงการล่าช้า ซึ่งจะพยายามจะทำให้เสร็จในก.ย.นี้ส่วนถังดับเพลิงนั้น ทำการสั่งซื้อทั้งหมด 37,590 ถัง รวมทั้งถังที่เราเก็บมาและถังที่จะติดตั้งใหม่เพื่ออุดช่องว่างชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ลอตแรกจะนำส่งในเดือนพ.ค. จากนั้นจะส่งในเดือนมิ.ย. ก.ค. ส.ค. ตามลำดับ โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพมอก.ก่อนทุกถัง” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
.
จากนั้นรองผู้ว่าฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีดับเพลิง แผนการปรับปรุงอาคารที่พักสถานีดับเพลิงและกู้ภัย แผนกรอบอัตรากำลังประจำสถานีดับเพลิงและกู้ภัย เกณฑ์การติดตั้งถังดับเพลิง
—————-

ผู้ชมทั้งหมด 360 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top