สภากทม.ส่งต่อแนวทางแก้มลพิษ ขอฝ่ายบริหารกทม.นำไปใช้เพื่อแก้ไข และลดความเดือดร้อนของประชาชน
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 เม.ย.67) นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะ การก่อสร้าง และอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ และเสนอให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักการระบายน้ำ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง และกรมการขนส่งทางบก ปรับปรุง ทบทวน แนวทางและมาตรการในการแก้ไขฝุ่นละออง
.
นอกจากนี้กทม.ยังควรมีแผนและมาตรการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1.แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองตามแนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยส่วนมากเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่ PM 10 แต่บริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะมีการจราจรที่ติดขัด ซึ่งรถยนต์มีผลทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ดังนั้นควรมีมาตรการหรือออกคำสั่งใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์
2.มาตรการการควบคุมการเผาในที่โล่ง ควรประสานงานไปยังสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
3.กรุงเทพมหานครควรศึกษาวิธีการป้องกันการเผาพื้นที่เกษตรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.กรุงเทพมหานคร ควรทดลองนำร่องดำเนินการตามแนวคิด Low Emission Zone ในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยศึกษาจากโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน” หรือ “ปทุมวันโมเดล” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการกำหนดพื้นที่ในการใช้รถมลพิษต่ำ
5.สนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาด้านมลพิษของกรุงเทพมหานคร
6.พิจารณาให้กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ดำเนินการนำร่องปรับเปลี่ยนดัดแปลงรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถราชการ จัดลำดับว่ารถประเภทใดควรเปลี่ยนก่อน ตามความเหมาะสมและความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้
7.มาตรการควบคุมเกี่ยวกับเตาเผากระดาษหรือการจุดธูปในศาลเจ้าและวัด สำนักอนามัย ควรเพิ่มความเข้มงวดในทางปฏิบัติตามแผนการลดฝุ่นละอองที่ได้กำหนดไว้
8.ในการจัดซื้อรถราชการใหม่ทดแทนรถที่จำหน่าย ควรพิจารณาจัดซื้อเป็นรถพลังงานไฟฟ้าก่อนเป็นลำดับแรก
9.กรุงเทพมหานครควรมีข้อบัญญัติหรือข้อบังคับเพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากยานพาหนะ การก่อสร้างและอื่น ๆ ใช้บังคับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้การลดมลพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
.
“เรื่องมลพิษในกทม.เราไม่สามารถแก้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะอำนาจในการดำเนินการที่ทับซ้อนหลายหน่วยงาน ในครั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ สภากทม. ได้ศึกษาเพื่อให้ข้อเสนอแนะกับฝ่ายบริหารเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน” นายพุทธิพัชร์ กล่าว
.
จากนั้น นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ ได้ร่วมอภิปรายในครั้งนี้ด้วย
.
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 368 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง