คกก.วิสามัญ สภากทม. รายงานผลศึกษาพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง พื้นที่เสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่ชายขอบ
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 เม.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่ชายขอบของกรุงเทพมหานคร รายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยได้เสนอแนวคิดอุโมงค์ส่วนต่อขยายที่จะช่วยเร่งการระบายน้ำภาพรวมของพื้นที่ด้านตะวันออกทั้งในและนอกเขตคันพระราชดำริ ประกอบด้วย โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระโขนง และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อลดระดับน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ พร้อมกับลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำทั้ง 2 โครงการ โดยแผนงานปรับปรุงคลองระบายน้ำแนวเหนือ-ใต้ 2 สายหลัก และแนวตะวันออก-ตะวันตก ตลอดแนวคลองประเวศบุรีรมย์ถึงสถานีสูบน้ำพระโขนง ประกอบด้วย
1.การปรับปรุงก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองพระยาสุเรนทร์ คลองคู้บอน คลองบางชันและคลองลาดบัวขาว จากคลองหกวาสายล่าง ถึงคลองประเวศบุรีรมย์
2.การปรับปรุงก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่น จากคลองหกวาสายล่างถึงคลองประเวศบุรีรมย์
3.การก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองพระโขนง ช่วงจากคลองขุนสกลถึงเขื่อนเดิมบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงที่ 1 จากซอยอ่อนนุช 19 ถึงเขื่อนเดิมบริเวณถนนสุขุมวิท
4.การก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองพระโขนง ช่วงจากคลองขุนสกลถึงเขื่อนเดิมบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงที่ 2 จากซอยอ่อนนุช 19
5.การก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองพระโขนง ช่วงจากคลองขุนสกลถึงเขื่อนเดิมบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงที่ 3 จากคลองขุนสกลถึงคลองหัวหมาก
ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำจะช่วยลดระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองพระโขนง จึงช่วยเร่งการระบายน้ำจากโครงข่ายคลองที่อยู่เหนือแนวคลองประเวศน์บุรีรมย์และคลองแสนแสบ ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองสายย่อยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวลดลงโดยเฉลี่ย 0.30 – 0.50 เมตรครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 38 ของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครทั้งหมด (พื้นที่ในคันกั้นน้ำพระราชดำริ 650 ตร.กม.) และยังสามารถรับน้ำจากนอกคันกั้นน้ำพระราชดำริเข้าคลองประเวศได้อีก 20 ลบ.ม./วินาที
.
ทั้งนี้จากการศึกษาปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า หากมีปริมาณน้ำฝนสะสมรวมไม่เกิน 60 มิลลิเมตร ระบบระบายน้ำทั้งหมดในพื้นที่จะสามารถระบายน้ำได้ทันโดยไม่ต้องรอการระบาย ปรากฎในข้อเท็จจริงว่าประมาณร้อยละ10 มีปริมาณน้ำฝนสะสม 100 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำรอการระบาย 40 มิลลิเมตร และพบว่ามีบึงเอกชน และบึงของภาครัฐจำนวนมากที่เป็นบึงปิด ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำให้เป็นแก้มลิงได้ หากได้บึงดังกล่าวมาออกแบบระบบแก้มลิงโดยเชื่อมต่อระบบคูคลองในพื้นที่จะช่วยลดระดับน้ำรอการระบายได้ กล่าวคือ หากตัดน้ำส่วนเกินได้ 10 มิลลิเมตร จะสามารถลดระดับน้ำรอการระบายได้ร้อยละ 25 ดังนั้น เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาพื้นที่บึงระบบปิดดังกล่าวให้พัฒนาต่อยอดให้เป็นบึงระบบแก้มลิงมากขึ้น
.
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
———————-
ผู้ชมทั้งหมด 259 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง