skip to Main Content
รับข้อเสนอส.ก. เร่งเพิ่มประสิทธิภาพดูแลสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรในพื้นที่กทม.

รับข้อเสนอส.ก. เร่งเพิ่มประสิทธิภาพดูแลสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรในพื้นที่กทม.

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์สังกัดกรุงเทพมหานคร
.
📌“ ในปี 2560 พบว่ามีจำนวนสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กทม.มากกว่า 13 ล้านตัว ทั้งสุนัขและแมว และจากข้อมูลพบว่ามูลค่าตลาดของสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักธุรกิจรวมถึงบริษัทหลายแห่งเข้ามาลงทุนเปิดโรงพยาบาลสำหรับสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายแห่ง ประกอบกับพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนไทยส่วนหนึ่งจะเลี้ยงเป็นลูก ส่วนหนึ่งเลี้ยงเพื่อสังคมและอีกส่วนเป็นการเลี้ยงเพื่อช่วยเหลือสัตว์จรจัด ซึ่งเมื่อเข้ารับบริการดูแลและรักษาในสถานพยาบาลเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ในส่วนของสัตวแพทย์คลินิกของกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานครทั้งหมด จากข้อมูลสถานที่ที่ประชาชนนิยมนำสัตว์ไปรักษามี 3 ที่ ได้แก่ คลินิกเอกชน โรงพยาบาลสัตว์เอกชน และสถานบริการของรัฐ หากกทม. สามารถเพิ่มสถานบริการได้จะเป็นการลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ แก้ปัญหาสัตว์จรจัด จึงขอให้ฝ่ายบริหารเห็นความสำคัญของญัตตินี้และนำงบประมาณมาใช้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่แก้ปัญหาที่ปลายทาง“ ส.ก.พุทธิพัชร์ กล่าว
.
📢เนื่องจากในปัจจุบันอัตราการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนิยมเลี้ยงแบบเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว (Pet Humanization) สถานพยาบาลสัตว์ซึ่งเป็นสถานที่พยาบาลและรักษาสัตว์จึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อสัตว์ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย โดยผู้เลี้ยงเลือกนำสัตว์เลี้ยงไปรักษาจากสถานพยาบาลสัตว์ ดังนี้
1.คลินิกเอกชน ร้อยละ 43.3
2. โรงพยาบาลสัตว์เอกชน ร้อยละ 41.23
3. โรงพยาบาลสัตว์รัฐบาล ร้อยละ 9.8
.
ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลสัตว์ของภาครัฐมีจำนวนน้อยและรองรับการบริการไม่ครอบคลุม เช่น สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีบริการคลินิกสัตวแพทย์ จำนวน 8 แห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดยาคุมกำเนิด และทำหมันเป็นหลัก ขณะที่สถานพยาบาลสัตว์เอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 758 แห่ง มีทั้งประเภทมีที่พักและไม่มีที่พักค้างคืน ให้บริการหลากหลาย
.
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงค่อนข้างสูง นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากและคาดเดาไม่ได้สำหรับผู้เลี้ยง ทำให้เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยอาจไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนอาจส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์เลี้ยงทำได้ยาก ดังนั้น เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เลี้ยง จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์สังกัดกรุงเทพมหานคร
.
⭐รศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีปริมาณสัตว์จรจำนวนมาก
แต่กรุงเทพมหานครมีข้อติดขัดหลายประการ เรื่องแรก ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และพระราชบัญญัติกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ได้ให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการสถานพยาบาลสัตว์ในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ แต่ได้ให้อำนาจในการควบคุมการเลี้ยงสัตว์และการกำจัดโรคระบาดในสัตว์ ในระดับปฐมภูมิเพียงเท่านั้น ดังนั้น การที่จะทำให้เป็นโรงพยาบาลสัตว์ คงต้องมีการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติที่ได้ให้อำนาจเราไว้ ข้อจำกัดที่สอง คือ เรื่องของอัตรากำลังที่กรุงเทพมหานครมีมาตั้งแต่แรก ทำให้มีสัตวแพทย์จำนวนค่อนข้างน้อย หากเราสามารถศึกษาในเรื่องนี้และวางรูปแบบที่จะเป็นสถานรักษาพยาบาลสัตว์ของกรุงเทพมหานครได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกันศูนย์ควบคุมดูแลสุนัขจะได้ให้บริการดูแลแมวด้วย สามารถรองรับสัตว์ได้รวม 1,000 ตัว แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ยังไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ส่วนเรื่องของหน่วยบริการในการทำหมันในชุมชน ขณะนี้ได้ให้ลงพื้นที่ทุกวัน และแต่ละวันให้เพิ่มจำนวนการรับและบุคลากรทางการแพทย์สองเท่าตัว
รวมทั้งได้ทำMOUกับภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันจำกัดจำนวนสัตว์ในปี 67 ตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนตัว ส่วนแนวทางที่ท่านส.ก.ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ ฝ่ายบริหารจะขอรับเพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนแก้ระเบียบหรือโมเดลในการปรับปรุงสถานบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในอนาคตต่อไป
————————————

ผู้ชมทั้งหมด 575 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top