ตั้งคกก.ศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในรพ.กทม. ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ลดอัตราการเสียชีวิต🚑
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ม.ค.67) นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางซื่อ เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 มาตรา 301 และมาตรา 305 ให้ผู้หญิงมีสิทธิยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ จำนวน 110 แห่ง ใน 47 จังหวัด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีคลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับบริการ กรุงเทพมหานครควรจัดให้มีบริการทางด้านสาธารณสุขในการยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นระบบ มีความปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
“ปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ขอยุติตั้งครรภ์เป็นคนวัยทำงาน เป็นผู้ที่มีบุตรมาแล้ว พลาดตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิด อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ตามกฎหมายกำหนด และมีฐานะไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถจัดให้มีบริการของรัฐเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่เพียงพอ มีแต่เอกชนที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ยุติการตั้งครรภ์ที่มีรายได้น้อย และต้องหนีไปหาทางเลือกที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบันพัฒนาไปมาก จึงขอใช้ช่องทางของสภากทม.เป็นกระบอกเสียงให้กับคนกลุ่มนี้ โดยขอเสนอให้โรงพยาบาลในสังกัดกทม.และศูนย์บริการสาธารณสุขให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอ ซึ่งการเสียชีวิตที่มาจากการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ทำได้ ในเมื่อกฎหมายก็มีแล้วมาแล้วกว่า 3 ปี เหลือเพียงการบริการของรัฐที่จะต้องให้เพียงพอ”ส.ก.ภัทราภรณ์ กล่าว
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้หารือกับกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ปัจจุบันศูนย์บริการสาธารณสุขได้ให้บริการคำปรึกษาทุกแห่งแล้ว จากนั้นจะส่งต่อให้รพ.สังกัดกทม.ดูแล จำนวน 5 แห่ง ทั้งนี้ กทม. สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ และจะดำเนินการจัดบริการให้เพียงพอต่อไป
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาสสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาการศึกษา 90 วัน
———————-
ผู้ชมทั้งหมด 762 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง