skip to Main Content
สภากทม. เร่งรัดกระบวนการงบประมาณกทม. ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

สภากทม. เร่งรัดกระบวนการงบประมาณกทม. ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 เม.ย.67) นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ ได้เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
.
“ตามที่ผู้ว่าเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานครปี 67 จำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาท และสภากทม.มีมติเห็นชอบไปแล้วนั้น ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ขอความเห็นชอบสภากรุงเทพมหานครขยายระยะเวลาดำเนินโครงการผูกพันงบประมาณ ทำให้เห็นว่ากระบวนการงบประมาณของกทม.ล่าช้า ถึงแม้ว่าในการเข้ามาบริหารงานของผู้ว่าฯจะคาบเกี่ยวปีงบประมาณ 2566 ซึ่งไม่ได้เป็นโครงการตามนโยบายของผู้บริหารชุดนี้แต่อย่างใด นโยบายของผู้บริหารชุดนี้จะเริ่มใช้งบประมาณในปี 67 แต่เชื่อว่าผู้บริหารสามารถใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์ และจะขอให้เร่งรัดให้กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย” นายวิรัช กล่าว
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้อภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย นายกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท นายตกานต์ สุนนทวุฒิ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตหลักสี่ นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวังทองหลาง นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบึงกุ่ม และนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งบประมาณเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากโครงการของสำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ ต้องมีรูปแบบการก่อสร้างทำให้ใช้เวลาในการประมูล แต่ก็เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ อาจมีบางสำนักที่ล่าช้า นอกจากนี้งบประมาณโครงการได้เน้นลงไปที่เขตและชุมชน เชื่อว่าไม่มียุคสมัยไหนที่มีโครงการลงเขตมากเท่านี้ งบประมาณทั้งหมดเราทำตามกฎหมายที่มีและระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง บิดพลิ้วไม่ได้ เราพยายามทำให้ถูกต้อง ผู้บริหารพยายามทำให้โปร่งใสและจะเร่งรัดให้โครงการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้า
.
“อย่างเรื่องรถขยะไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเปลี่ยนให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และมีแรงเสียดทานค่อนข้างมาก เรื่องสะพานข้ามแยกเกียกกายก็ไม่ใช่ความล่าช้าแต่อาจเป็นที่แนวคิดของสภาใหญ่ที่ไม่ตรงกับกทม. ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาลูกน้ำยุงลาย ได้ให้เขตสำรวจพื้นที่ และปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับทั้งประเทศ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขและหลักวิชาการ ยืนยันว่าจะเร่งรัดทุกโครงการในไตรมาสที่ 3 และ 4 ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่สภากทม.ได้เห็นชอบข้อบัญญัติงบประมาณกทม.เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งให้ทุกหน่วยงานเริ่มหาผู้รับจ้างตั้งแต่ 7 กันยายน เป็นต้นไป โดยฝ่ายบริหารได้ติดตามงบของหน่วยงานอย่างต่อเนื่องรายสัปดาห์ รายเดือน และไตรมาส เพื่อตรวจสอบความล่าช้า ภาพพรวมการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคาดหวังว่าในไตรมาสที่ 1 หน่วยงานต้องใช้งบประมาณให้ได้ 15 % ไตรมาสที่ 2 ใช้งบประมาณให้ได้ 35% ไตรมาสที่ 3 ใช้งบประมาณให้ได้ 55% และไตรมาสสุดท้ายต้องใช้งบประมาณให้ได้ 100% แต่พบว่าขณะนี้ไตรมาสที่ 2 ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ไม่ถึง 35% ซึ่งจะเร่งรัดทุกหน่วยงานให้ทำงานตามแผนงานต่อไป
—————–

ผู้ชมทั้งหมด 468 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top