เห็นชอบตั้งคกก.วิสามัญศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์ชุมชน 2 แสนบาท เจตนาทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามนโยบายของสภากทม.และฝ่ายบริหาร
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 6) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (7 ก.พ.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
.
เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ.2564 จำนวน 2,016 ชุมชน จัดทำโครงการเสนอของบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตน สำนักงานเขต ชุมชนละ 200,000 บาท การดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทำให้บางชุมชนไม่สามารถดำเนินการตามโครงการได้หรือดำเนินการได้เพียงบางส่วน และมีการดำเนินการที่ล่าช้า โดยมีชุมชนจาก 49 สำนักงานเขต ขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จึงเห็นควรศึกษาแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการ ฯลฯ โครงการดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถดำเนินการได้ครบทุกชุมชนทุกเขต บรรลุตามวัตถุประสงค์โครงการ ดังนั้น จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
.
“จากข้อมูลพบว่า 49 เขต ขอกันเงินเหลื่อมปีเพื่อดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็ง มีเพียง 1 เขตเท่านั้น ที่ดำเนินการเสร็จสิ้น ที่เหลือขอกันเงินไว้ถึง 313 ล้านบาท คำถามตามมามากมายว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้หลักการจะดี ตรงใจชุมชน แต่หลักเกณฑ์มากไปหรือไม่ วิธีการถูกต้องหรือไม่ ต้องมาดูกัน วันนี้จึงต้องขอให้สภากทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาโครงการชุมชน 2 แสนบาท ขณะนี้ทุกชุมชนได้เท่ากันหมด แต่เห็นว่าชุมชนแต่ละขนาดควรได้รับเงินไม่เท่ากัน เพื่อความเหมาะสม” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เจตนาของทุกท่านเชื่อว่าตรงกัน คือมีความตั้งใจให้โครงการนี้ลงไปที่เส้นเลือดฝอย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเชิงงบประมาณ เจตนาขอย้ำว่าอยากทำให้เกิดขึ้นจริง สำนักพัฒนาสังคมพยายามทำให้รายละเอียดถูกต้องภายใต้สมดุลของระเบียบในปัจจุบัน ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้กระบวนการล่าช้า เมื่อมีการกันเงินเหลื่อมปี สำนักพัฒนาสังคมได้กำชับเร่งให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างให้เรียบร้อยภายในมี.ค.นี้ สำหรับเรื่องของหลักเกณฑ์ที่มีข้อเสนอแนะจากชุมชน คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์จะได้ร่วมกันแก้ไขและออกหลักเกณฑ์ใหม่ รวมทั้งจะมีการรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งการตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครในการดำเนินการต่อไป ในอนาคตจะศึกษาในรูปแบบของกองทุน โดยสำนักพัฒนาสังคมอยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาขั้นตอน โดยรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของชุมชนและระเบียบในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
.
สำหรับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท และนายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ จากนั้นสภากรุงเทพมหานครได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาพิจารณา 90 วัน
———————–
ผู้ชมทั้งหมด 656 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง