skip to Main Content
เสนอกทม.เร่งตรวจสอบปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

เสนอกทม.เร่งตรวจสอบปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (3 เม.ย.67) นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางซื่อเสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเร่งสำรวจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายแห่งมีลักษณะไม่ปลอดภัย เช่น ปัญหาหมุดถนนสะท้อนแสงบนถนนหลุดกระเด็นใส่ประชาชน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้ทางเท้า ปัญหาน้ำขยะไหลลงบนถนนในระหว่างขนย้าย เกิดคราบบนถนน จนทำให้ประชาชนที่สัญจรเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง รวมทั้งไม่มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่เป็นอันตรายกับประชาชน และหากมีเหตุเกิดขึ้นไม่สามารถตรวจสอบเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งสำรวจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
“เข้าใจว่าฝ่ายบริหารมีการใช้แถบสะท้อนแสงติดบนถนนเพื่อแก้ปัญหาไปบางส่วนแล้ว แต่กรณีที่มีหมุดแบบเดิมในอีกหลายจุดของกทม. ฝ่ายบริหารจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร เรื่องของกล้องCCTV ที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องขอสอบถามความคืบหน้าจากฝ่ายบริหาร เพราะจะมีเรื่องปัญหาความปลอดภัย เช่นเดียวกับปัญหาไรเดอร์ส่งอาหารที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญกับประชาชนผู้พักอาศัยในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมาได้เคยเสนอPilot Projectเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับฝ่ายบริหารแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอให้ฝ่ายบริหารได้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา” นางสาวภัทราภรณ์ กล่าว
.
จากนั้น นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสาน และนายฉัตรชัย หมอดี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางนา ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วเป็นปัญหาหลายจุด ปัญหาการมั่วสุมสร้างความเดือดร้อนรำคาญคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน การติดตั้งกล้องวงจรปิดจะจัดลำดับความสำคัญของจุดที่มีปัญหาก่อน กล้องไม่ได้แพงแต่การเดินสายต้องมีงบประมาณ
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หมุดสะท้อนแสงที่ชำรุดจะมีความเสี่ยง จึงได้สั่งการให้สจส. (สำนักการจราจรและขนส่ง) รื้อถอนและเปลี่ยนเป็นสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงแทน และจะไม่มีการติดหมุดลูกแก้วอีก ในส่วนของกล้องCCTVจะมีการปรับมุมกล้อง ให้มีประสิทธิภาพ แต่การติดตั้งใหม่จะต้องขอรับข้อมูลจุดเสี่ยงงจากส.ก.เพื่อกำหนดจุดติดตั้งให้เหมาะสม รวมถึงการพิจารณารูปแบบการติดกล้องแบบใช้ซิมการ์ดเพื่อไม่ต้องใช้สาย เพื่อให้ครอบคุลมพื้นที่มากขึ้น
——————————–

ผู้ชมทั้งหมด 194 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top