วอนกทม.แก้ไขปัญหาสะพานข้ามคลองชำรุดให้ได้มาตรฐาน เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (3 เม.ย.67) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครบูรณาการการแก้ไขปัญหาสะพานชำรุดในพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตหรือในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา
.
เนื่องจากปัญหาสะพานข้ามคลองหรือสะพานยกระดับ ที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อ 2 เขตหรืออยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธาเมื่อเกิดความเสียหายหรือชำรุดต้องปรับปรุงซ่อมแซมส่วนประกอบต่าง ๆ ของสะพาน เช่น เชิงลาดสะพาน ราวสะพานทางเท้า ระบบระบายน้ำ เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ไฟฟ้าแสงสว่าง สีซีดจาง หรือส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่พบว่าเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาหรือมีการปรับปรุงซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของพื้นที่เขตนั้น แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมดของสะพาน ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้สะพานที่ชำรุดได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมได้รวดเร็วและครอบคลุมทั้งสะพาน ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
.
“สะพานข้ามคลองฝั่งหนึ่งคือพื้นที่เขตหนึ่ง อีกฝั่งเป็นพื้นที่ของอีกเขต เมื่อประชาชนเดือดร้อนจะไม่ได้รับความสะดวกในการประสานงาน ซึ่งสำนักงบประมาณควรเข้ามาดูแลสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ด้วย โดยให้ดูจากสภาพจริงของสะพานในปัจจุบันที่ชำรุดจนไม่อาจใช้งานได้ บางแห่งชำรุดมานานหลายปี ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมานาน เสี่ยงต่อความปลอดภัย ทั้งนี้การปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นคอนกรีตแทนการใช้สะพานไม้เพื่อช่วยในเรื่องความคงทนแข็งแรง หลายแห่งเป็นเส้นทางลัดเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร หากแก้ไขจะได้ประโยชน์ในเรื่องแก้ปัญหาจราจรได้ด้วย การปรับปรุงโครงสร้างให้ประชาชนใช้งานได้สะดวกไม่สูงหรือชันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องออกแบบให้เหมาะสม โดยขอให้กรุงเทพมหานครเร่งสำรวจสะพานที่มีปัญหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงให้ครบทุกแห่ง” นายสุทธิชัย กล่าว
.
ทั้งนี้นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง และนายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ด้วย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครสำหรับข้อมูลทั้งหมด เพราะการสัญจรเป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายบริหารขอรับข้อมูลไปดำเนินการ หากมีจุดสำคัญในพื้นที่ขอให้รวบรวมและยื่นให้ฝ่ายบริหารโดยตรงเพื่อเป็นข้อมูลและจะได้สั่งการงบประมาณได้สะดวกขึ้น เพราะฝ่ายบริหารอาจจะลงพื้นที่ไม่ละเอียดเท่าส.ก. และทั้งหมดนี้คือนโยบายเส้นเลือดฝอยของกทม.อยู่แล้ว
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการโยธาได้มอบให้สำนักงานเขตสำรวจจำนวนสะพานในกรุงเทพมหานครทั้งหมด ซึ่งประมาณไว้ว่ามีจำนวน 3,301 แห่ง โดยในปี 68 จะทำการสำรวจฐานข้อมูลสะพานและสภาพของสะพานใหม่ทั้งหมด ในส่วนของวิธีการงบประมาณสะพานที่อยู่ในความรับผิดชอบรอยต่อ 2 หน่วยงานต้องดูว่าเป็นทรัพย์สินของเขตใด เขตนั้นต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่หากไม่ทราบสำนักการโยธาจะเข้าไปดูแล หากเป็นการใช้งบทั่วไปสำนักงานเขตจะดูแล แต่หากใช้งบจำนวนมากให้ขอมาที่สำนักการโยธาได้
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 353 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง