skip to Main Content
งบสุขภาพ กทม. ใช้ไม่ถึงเป้า! เงินสะสมทะลุ 1.5 พันล้าน สภาชี้ปัญหาซ้ำซ้อน-ไร้เกณฑ์ชัด

งบสุขภาพ กทม. ใช้ไม่ถึงเป้า! เงินสะสมทะลุ 1.5 พันล้าน สภาชี้ปัญหาซ้ำซ้อน-ไร้เกณฑ์ชัด

สภา กทม. ถกเข้มกองทุนหลักประกันสุขภาพพบปัญหางบแช่แข็งกว่า 1.5 พันล้าน ใช้ไม่ถึงเป้า – สมาชิกชี้โครงการซ้ำซ้อน ขาดความโปร่งใส เสนอฝ่ายบริหารเร่งแก้เกณฑ์-ปรับระบบพิจารณาใหม่

.

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

โดย นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติใหม่ เรื่อง “ขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากิจกรรมและโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน”

.

นางสาวภัทราภรณ์ระบุว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนหลายรายในหลายพื้นที่ กรณียื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระดับเขต แต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติ โดยได้รับคำตอบว่า “เป็นโครงการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน” พร้อมทั้งถูกส่งกลับไปให้แก้ไข ซึ่งกระบวนการใช้เวลาหลายเดือน บางรายถึงกับท้อใจและเลิกยื่นโครงการไปในที่สุด

.

ขณะที่โครงการที่ได้รับอนุมัติมักจะเป็นโครงการเดิม ๆ เช่น เต้นแอโรบิก หรือรำไทเก๊ก ซึ่งเธอมองว่าไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน สปสช. ที่ควรเน้นส่งเสริมสุขภาพและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่

.

นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวต่อว่า จากการค้นหาข้อมูล พบว่า ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2567 ได้ระบุไว้ในข้อ 6 ว่า “เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า ความต้องการของประชาชนได้สะท้อนออกมาในโครงการที่ได้รับงบจากกองทุนจริงหรือไม่”

.

ทั้งนี้ นโยบายของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2567 กำหนดให้สำนักงานเขตใช้เงินจากกองทุนมากกว่า 80% ของยอดทั้งหมด โดยยอดเงินแต่ละเขตคิดตามจำนวนประชากรในสิทธิรายหัว หัวละ 45 บาท

.

ตัวอย่างเช่น เขตบางซื่อ ที่มีประชากรตามสิทธิ์ 248,962 คน จะได้รับเงินกองทุนปีนี้ 11,203,290 บาท ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อมาว่า “หลักเกณฑ์ใด” ที่ใช้ในการอนุมัติโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ยอดการใช้เงินถึง 80%

.

นางสาวภัทราภรณ์ยังยกตัวอย่างถึงสำนักงานเขตแห่งหนึ่ง ที่ดูเสมือนกำลังเร่งทำยอดเหมือน “เซลล์ขายของ” โดยขาดทิศทางว่าโครงการจะนำไปสู่อะไร

.

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงกรณีของ บริษัทมหาชนระดับชาติแห่งหนึ่ง ที่มีรายได้รวมต่อปี 450,000 ล้านบาท ได้ยื่นโครงการจำนวน 3 รายการเข้ามาที่คณะกรรมการกองทุน สปสช. เขต ในปี 2568 ซึ่งแต่ละโครงการใช้เงิน 200,000 บาท และ 300,000 บาท รวมทั้งสิ้น 719,215 บาท คิดเป็น 6.4% ของงบประมาณทั้งเขต

.

โดยทั้ง 3 โครงการนั้น เป็นเพียงการอบรมพนักงานของบริษัทตัวเอง ซึ่งแม้จะสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยใช้ชื่อของพนักงานในบริษัท 5 คนที่เป็นประชาชนร่วมกันยื่นเสนอโครงการ แต่กลับพบว่า เป็นรายชื่อซ้ำกันทั้ง 3 โครงการ

.

ที่สำคัญ คือ ในการประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯ ผู้เสนอควรเป็นผู้มาชี้แจงรายละเอียดด้วยตนเอง แต่ในกรณีนี้กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่เขตที่เป็นผู้นำเสนอแทนในทุกโครงการ

.

นางสาวภัทราภรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจสะท้อนถึงความ “เอื้ออำนวย” จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต ที่ช่วยดำเนินการครบถ้วนให้กับบริษัทเอกชนรายนี้ เพื่อให้สามารถยื่นโครงการได้อย่างสะดวก และอาจเป็นเพียงความพยายามของเขตในการทำยอดตามนโยบายฝ่ายบริหารเท่านั้น

.

ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติม พบว่า วัสดุครุภัณฑ์ที่ใช้ในแต่ละโครงการมีมูลค่าเพียงหลักพันถึงหลักหมื่นบาทเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ของงบประมาณจะถูกใช้ไปกับการจัดอบรม เช่น การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้โดยตรง

.

แม้แต่โครงการอบรมเรื่องการจราจร ซึ่งมีการจัดซื้อหมวกกันน็อกในวงเงินเพียงประมาณ 5,000 บาท ขณะที่ตัวบริษัทเองเคยดำเนินกิจกรรม CSR โดยแจกหมวกกันน็อกกว่า 500 ใบ และจัดอบรมเรื่องการจราจรให้กับเด็ก ๆ ตามโรงเรียนต่าง ๆ มาแล้ว

.

นอกจากนี้ ในเขตเดียวกัน ยังพบอีกโครงการที่ยื่นขอผ่านกองทุนฯ โดยพนักงานของธนาคารระดับชาติ เป็นการอบรมพนักงานของบริษัทเป็นการภายในเช่นเดียวกัน โดยมีหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเขตเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการต่อคณะกรรมการ และบุคคลดังกล่าวยังดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่มีอำนาจอนุมัติโครงการอีกด้วย

.

นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีลักษณะคล้ายกับ “ชงเอง กินเอง” ทำให้โครงการผ่านง่ายกว่าที่ประชาชนทั่วไปยื่นเสนออย่างเห็นได้ชัด

.

นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากฝ่ายบริหารอาจไม่ทราบถึงปัญหาในการบริหารจัดการกองทุน สปสช. รายเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งยังขาดมาตรฐานและความโปร่งใส ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างที่ควรจะได้รับ

.

ทั้งนี้ ได้เสนอแนวทางให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

  1. ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ว่าสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม 5 คน เพื่อเสนอโครงการขอใช้งบประมาณจากกองทุนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
    2. ขอให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง เพื่อให้สามารถจัดอบรมหรือทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ง่ายขึ้น
  2. ขอให้หยุดการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีทุนทรัพย์เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากงบประมาณของกองทุนมีจำกัด และควรให้ความสำคัญกับประชาชนหรือกลุ่มเปราะบางมากกว่า
    4. ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการในระดับเขตให้ชัดเจน และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สปสช. โดยขอให้ฝ่ายบริหารชี้แจงว่า หากมีหลักเกณฑ์ที่มอบให้คณะกรรมการเขตอยู่แล้ว เหตุใดผลการพิจารณาจึงขาดทิศทาง และปรากฏความผิดปกติอย่างที่เห็นในหลายพื้นที่

ด้านนายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก. เขตทวีวัฒนา ขอร่วมอภิปรายสนับสนุน โดยระบุว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีมีจำนวนมาก โดยล่าสุดแต่ละปีมีงบประมาณกว่า 140 ล้านบาท

.

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กทม. ยังมี “เงินสะสม” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลล่าสุดจากเพจกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ว่า ขณะนี้มีเงินสะสมมากถึง 1,500 ล้านบาท

.

เงินจำนวนดังกล่าวเป็นงบประมาณที่ กทม. ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนฯ มาต่อเนื่องหลายปี โดยย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้ง กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขึ้นมา

.

ทั้งนี้ กองทุนของกรุงเทพฯ ถือเป็นกองทุนที่จัดตั้ง “ภายหลัง” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอื่น ๆ ทั้ง 76 จังหวัดที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือของ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

.

ต่อมาในปี 2561 บอร์ด สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว โดยมี 6 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่

  1. สนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
    2. สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในกลุ่มประชาชนหรือหน่วยงานรัฐ โดยในกรณีจำเป็นสามารถจัดซื้อครุภัณฑ์ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อโครงการ
    3. สนับสนุนการให้บริการของศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชน
    4. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือพัฒนากองทุน (ไม่เกิน 15% ของรายรับกองทุน)
    5. ใช้ในกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุข
    6. สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผ่านศูนย์บริการหรือหน่วยงานในชุมชน

.

นายยิ่งยงค์ กล่าวว่า แม้ กทม. จะมีกรอบวัตถุประสงค์ชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณตามกองทุน แต่กลับพบว่ากรุงเทพมหานครมีเงินสะสมในกองทุนสูงถึง 1,500 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 กทม. กลับไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณ จำนวนกว่า 140 ล้านบาทจาก สปสช.

.

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะ สปสช. ไม่มีงบประมาณจัดสรร แต่เป็นเพราะ กทม. ปฏิเสธรับงบดังกล่าวเอง โดยอ้างอิงตามประกาศหลักเกณฑ์กองทุนฯ ฉบับที่ 2 ปี 2563 ที่ระบุว่า หากกองทุนมีเงินสะสม มากกว่าสองเท่า ของรายรับที่ควรได้รับในปีที่ผ่านมา สปสช. อาจระงับการจัดสรรงบให้ได้

.

นอกจากนี้ หากกองทุนไม่มีเงินสมทบจากกรุงเทพมหานคร หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ต่อเนื่องเกิน 2 ปี สำนักงาน สปสช. สามารถประกาศยกเลิกกองทุนได้

.

ดังนั้น เงินสะสมที่สูงถึง 1,500 ล้านบาท จึงถือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ กทม. ไม่สามารถรับงบจาก สปสช. ได้ และยังไม่สามารถสมทบเงินเข้ากองทุนเองได้อีกด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่กองทุนจะถูกยุบ หากไม่มีการใช้งบอย่างเหมาะสม

.

นายยิ่งยงค์ กล่าวต่อว่า การที่ กทม. มีงบประมาณปีละ 140 ล้านบาท แต่กลับ “ไม่มีปัญญาใช้” สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยระบุสาเหตุหลักไว้ 4 ประการ ได้แก่:

.

  1. องค์ความรู้ของบุคลากรแต่ละเขตไม่เท่ากัน แม้จะมีข้อดีตรงที่เข้าใจพื้นที่ แต่กลับใช้เกณฑ์กลางหรืออิงความกลัวจากสิ่งที่เคยทำแล้ว ส่งผลให้โครงการใหม่ไม่ผ่าน
    2. การให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ประชาชนยังไม่ทั่วถึง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงขั้นตอนราชการที่ซับซ้อน จึงควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยคิดและร่างโครงการ ไม่ใช่แค่รับเรื่อง
    3. ความไม่เท่าเทียมในการใช้งบประมาณ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้น้อย ขณะที่เอกชนรายใหญ่ที่มีทรัพยากรสามารถผ่านเกณฑ์ได้ง่ายกว่า
    4. ข้อจำกัดของระเบียบที่ใช้พิจารณาโครงการ ไม่ชัดเจน และสร้างความยุ่งยาก โดยปัจจุบันยังอ้างอิงแค่ 2 ระเบียบ ได้แก่
    – ระเบียบ กทม. ว่าด้วยการเบิกจ่ายกิจกรรม ปี 2564
    – ระเบียบ กทม. ว่าด้วยการฝึกอบรม ปี 2541

.

ซึ่งนายยิ่งยงค์เห็นว่า กทม. ควรเร่งทบทวนแนวทางทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้กองทุนที่มีเงินมากมาย “กลายเป็นเพียงงบแช่แข็ง” ที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน โดยขอเสนอวิธีการที่จะทำให้กองทุนนี้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดในสามประการ ได้แก่

  1. นำหลักเกณฑ์ข้อ 6.4 แห่งประกาศเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ปี 2561 มาใช้ เพื่อศึกษาวิจัยกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาวิธีการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของวิธีคิด วิธีปฏิบัติในการจัดทำโครงการ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะและป้องกันโรคในทุกช่วงวัย และกระจายการใช้งบประมาณอย่างเป็นธรรมถึงประชาชนทุกกลุ่ม
    2. การพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดทำโครงการ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบหรือรับเรื่องเท่านั้น
    3. การปรับปรุงกฎระเบียบการใช้งบประมาณ ที่ยังไม่ชัดเจน ไม่เหมาะสม และสร้างความยุ่งยาก ให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เพื่อให้สามารถใช้งบได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
    ทั้งนี้ ตนหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้ฝ่ายบริหารตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครมากยิ่งขึ้น

.

ด้านนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก. เขตคลองสาน ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนญัตติของนางสาวภัทราภรณ์ โดยระบุว่า งบประมาณ สปสช. ที่นางสาวภัทราภรณ์กล่าวถึงนั้น ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจให้แต่ละเขตใช้งบให้หมดและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยในอดีตกำหนดตัวชี้วัดไว้ที่ร้อยละ 80 แต่ในปีนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 90

.

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การได้รับงบประมาณกลับมีความเหลื่อมล้ำ เช่น บางเขตมีประชากรตามทะเบียนบ้านเพียง 30,000 คน แต่มีสิทธิ์ได้รับงบถึงกว่า 6 ล้านบาท เพราะมีประชากรแฝง ซึ่งเขตนั้นก็ใช้งบอย่างสุจริต ขณะที่บางเขตไม่สามารถทำตามตัวชี้วัดได้ ส่งผลให้โครงการไม่มีทิศทาง บางแห่งเสนอโครงการเกินงบประมาณ ต้องขอเบิกเพิ่ม ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความเหลื่อมล้ำ

.

นายสมชาย กล่าวต่อว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับครุภัณฑ์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือเครื่องเสียง มักเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่วนเวียนกันขอ โดยครุภัณฑ์ที่ได้มาก็ไม่มีเลขทะเบียน ไม่สามารถหมุนเวียนใช้งานระหว่างชุมชนได้ ทั้งที่บางพื้นที่อยู่ใกล้กัน จึงต้องซื้อใหม่ทุกครั้ง ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า หากใช้แนวทางนี้ไปจนถึงปี 2569 ครุภัณฑ์อาจล้นพื้นที่จนไม่มีที่จัดเก็บ

.

อีกกระแสหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้แต่ละเขตใช้งบ 200,000 บาทได้อย่างเป็นประโยชน์ แต่อยากให้มีการจัดการเรื่องค่าไฟฟ้าและค่า Wi-Fi ให้ชัดเจนก่อน พร้อมระบุว่าไม่ควรให้ภาพจากกล้องเข้าถึงได้เฉพาะบ้านของประธานชุมชนเท่านั้น แต่ทุกเขตควรสามารถโหลดภาพได้ด้วยตนเอง

.

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก. เขตยานนาวา ร่วมอภิปรายในญัตติ โดยกล่าวว่า มีกรณีที่บริษัท A ใช้คนกลุ่มเดิม 5 คน ยื่นโครงการซ้ำในหลายชุมชน หลายหน่วยงาน เช่น โครงการปลูกผัก ซึ่งถูกเสนอในลักษณะคล้ายกันถึง 6 โครงการ เพื่อตอบโจทย์ตัวชี้วัดที่กำหนดไว้

.

บางโครงการมีลักษณะ “คัดลอก-วาง” ซ้ำ ๆ ใช้งบเพียงเพื่อให้หมด ไม่มีจุดมุ่งหมายที่แท้จริง เช่น โครงการปลูกต้นผักชี หรือกิจกรรมที่ไม่มีผลสัมฤทธิ์ บางครั้งถึงขั้นนำเงินไปปล่อยกู้ในชุมชนและเก็บดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรตรวจสอบอย่างจริงจัง

.

รองศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การพิจารณาโครงการจะต้องยึดจากความต้องการของคนในพื้นที่จริง ๆ โดยโครงการต้องเกิดจากการรวมกลุ่มประชาชน และมีการยืนยันจากปลายทางว่ามีความต้องการให้ทำจริง เพื่อให้สามารถเสนอต่อคณะกรรมการได้อย่างถูกต้อง

.

ปัจจุบัน สปสช. ได้ขยายหมวดงบประมาณเพื่อให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ เช่น บริการฟื้นฟูในหน่วยบริการ อุปกรณ์สำหรับผู้พิการ การซ่อมแซม ปรับสภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม

.

สิ่งที่ยังไม่สามารถใช้เงินกองทุนได้ ได้แก่ งานวิจัย การซ่อมแซมอาคาร และการจ้างงานสร้างอาชีพ แต่ทาง กทม. มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและ สสส. เพื่อบูรณาการงบจากแหล่งอื่นมาเสริมให้โครงการสามารถเกิดขึ้นได้

.

รองผู้ว่าฯ ยังกล่าวถึงแนวทางที่ กทม. กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่

  1. ให้ผู้เสนอโครงการสามารถปรับแก้โครงการได้ พร้อมให้คณะกรรมการเขตอธิบายเพิ่มเติม
  2. มีระบบพี่เลี้ยงในการร่างและปรับปรุงโครงการ
  3. จัดทำคู่มือและคลังข้อมูลเพื่อการเสนอขอรับงบ
  4. อบรมพัฒนาอนุกรรมการกองทุนเขตให้มีแนวทางเดียวกัน
  5. เสนอแก้ประกาศในประเด็นที่จำเป็น เช่น ค่าพาหนะของผู้ดำเนินโครงการ

.

ในปี 2567 ถึงไตรมาสแรกของปี 2568 กรุงเทพมหานครใช้งบไปแล้ว 335 ล้านบาท คิดเป็น 75% โดยเขตทวีวัฒนาเป็นเขตแรกที่ใช้งบถึง 100% ต่อเนื่องสองปี

.

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอยอมรับข้อบกพร่องในการสื่อสารและการจัดการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการทำโครงการซ้ำ ๆ เหมือน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะติดตามและประเมินผลให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับงบประมาณอื่น ๆ และปิดช่องว่างในการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน

.

นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก. เขตห้วยขวาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุหลักของปัญหาอาจมาจากการกำหนดตัวชี้วัดงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ข้าราชการทำงานด้วยความเกร็ง โครงการที่ออกมาจึงไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่กลับเน้น “ใช้งบให้หมด” มากกว่าจะตอบโจทย์สุขภาพของประชาชน

.

นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่าโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจทุจริต แต่เกิดจากความพยายามตอบสนอง “ตัวชี้วัด” ที่ถูกกำหนดไว้สูงเกินไป จึงอยากให้ฝ่ายบริหารพิจารณาว่าสามารถปรับเงื่อนไขดังกล่าวได้หรือไม่

ผู้ชมทั้งหมด 158 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top