skip to Main Content
ส.ก.ตลิ่งชัน ชงเปิดโรงเรียนานาชาติ ยกระดับการศึกษากทม.

ส.ก.ตลิ่งชัน ชงเปิดโรงเรียนานาชาติ ยกระดับการศึกษากทม.

(9 ต.ค.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
📌นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.เขตตลิ่งชัน ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยการเปิดการเรียนการสอนโรงเรียนนานาชาติสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันสถิติการเกิดใหม่ของเด็กมีน้อยลง ส่งผลให้จำนวนนักเรียนในโรงเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเช่นกัน ในทางกลับกันโรงเรียนนานาชาติของภาคเอกชนมีการเปิดกิจการมากขึ้นรองรับความต้องการและค่านิยมของผู้ปกครองที่มีฐานะทางดีในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ซึ่งกรุงเทพมหานครมีการจัดหลักสูตรห้องเรียนสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยในปัจจุบันมีจำนวน 79 โรงเรียน ทุกโรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานนานาชาติ หากมีการยกระดับเป็นรูปแบบโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพมหานคร จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปที่บุตรหลานมีศักยภาพที่จะศึกษาในโรงเรียนนานาชาติได้แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีทางเลือกในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้นักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปรับตัวของโรงเรียนให้เข้ากับสถานการณ์และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงควรเปิดการเรียนการสอนโรงเรียนนานาชาติสังกัดกรุงเทพมหานคร (นำร่อง) โดยสามารถดำเนินการด้วยการพัฒนาอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และจ้างครูชาวต่างชาติตามมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติมาสอน โดยให้นักเรียนที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับสิทธิในการเลือกเรียนต่อเนื่องในโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพมหานครเป็นกลุ่มแรก
.
⭐โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า การศึกษาควรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งหากกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาระบบการศึกษา รวมถึงต่อยอดการศึกษาโดยจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีมาก และหากสำนักการศึกษามีการสำรวจโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 100-200 คน สามารถยุบรวมกันได้ จะเป็นการใช้งบประมาณด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้นและนำบุคลากรมารวมกันเพื่อให้มีความมั่นคงและมีศักยภาพมากขึ้น นางสาวเมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.มีความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับหลายเมืองในหลายประเทศ หากมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนหรือบุคลากรทางการศึกษาร่วมกันได้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี และหากมีการขยายจำนวนภาษาที่ใช้ในการศึกษา เช่น ภาษาจีน ที่มีความสำคัญในตลาดโลกปัจจุบันได้ จึงขอฝากฝ่ายบริหารในการพิจารณาบรรจุภาษาที่เหมาะสมเข้าในหลักสูตรของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป จากนั้น นายกิตติพงษ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ กล่าวยกตัวอย่างโรงเรียนในเขตทุ่งครุ เช่น โรงเรียนนาหลวง เดิมมีนักเรียนเพียง 3,000 กว่าคน ตอนนี้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 คนแล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองเห็นถึงศักยภาพของโรงเรียนกทม.ว่ามีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งถ้าหากในอนาคตกทม.จะมีโมเดลโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของตัวเองที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตในปัจจุบัน ถือเป็นการเปิดโอกาสและเพิ่มทางเลือกด้านการศึกษาให้เด็กในกทม.มากขึ้นในอนาคตด้วย และนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. จะสามารถนำนักศึกษาครูที่จบวิชาเอกภาษาอังกฤษโดยตรงมาทำการสอนในโรงเรียนสองภาษาของกทม.แทนที่ครูต่างชาติที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาโดยตรงได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ที่เรียนจบด้านการศึกษาจะต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพครู มีการเรียนการสอนด้านจิตวิทยา มีความรู้ความเข้าใจด้านบริบท วัฒนธรรม และพฤติกรรมของเด็กนักเรียนไทยมากกว่า
.
✏นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติมีองค์ประกอบสำคัญถึง 5 อย่างด้วยกัน คือ หลักสูตร ครู นักเรียน กายภาพ และการบริหารจัดการ ซึ่งสภากทม.ได้อนุมัติงบประมาณปีพ.ศ.2568 ให้จัดทำหลักสูตรสำหรับโรงเรียนนานาชาติมาแล้ว ถือว่าเป็นการเริ่มกระบวนการพัฒนา BMA International School เพื่อในอนาคตจะสามารถพัฒนาทั้ง 5 องค์ประกอบต่อไปได้
.
✏นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในการของบประมาณปีพ.ศ. 2568 มีการตั้งโครงการพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกทม.ด้วยหลักสูตรมาตรฐานนานาชาติ โดยสำนักการศึกษาได้เข้าศึกษาหลักสูตรในหลากหลายที่ เช่น สถานทูตสิงคโปร์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตแคนนาดา และหลักสูตรของทางโรงเรียน Brighton college Bangkok โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และตั้งงบประมาณยื่นขอต่อสภากทม.ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณแล้ว ส่วนเรื่องการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนกทม. มี 3 รูปแบบ คือ 1. ครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งกทม.ได้มีการทำความร่วมมือกับสถานทูตอเมริกาโดยจะส่งบุคลากรจากสถาบันภาษาเข้ามาสอนสื่อการเรียนการสอนใหม่ ๆ ให้แก่ครูไทย 2. การจ้างครูภาษาอังกฤษซึ่งเป็นชาวต่างชาติ 3. การสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ ที่ปัจจุบันมี 74 โรงเรียน และจะพัฒนาเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรมตามงบประมาณที่ได้รับอย่างน้อย 2 โรงเรียนก่อน ซึ่งจะต้องมีการวัดความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วย โดยปีที่แล้วมีการจัดสอบวัดระดับความสามารถภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานสากล CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 30,000 คน และครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 500 คน โดยดูผลการศึกษาว่าเป็นอย่างไร และในปีหน้าก็จะมีการวัดพัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อไป
——————————

ผู้ชมทั้งหมด 20 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 20 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top