skip to Main Content
สภากทม.อภิปรายถกประเด็นตั้งคนนอกเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณางบ กทม. ชี้ ส.ก.ทุกคนมีความสามารถ พร้อมทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชน

สภากทม.อภิปรายถกประเด็นตั้งคนนอกเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณางบ กทม. ชี้ ส.ก.ทุกคนมีความสามารถ พร้อมทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชน

(30 ก.ค.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม
.
ในที่ประชุม ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีมีผู้ขอให้ตั้งบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงมีการเผยแพร่ผ่านรายการโทรทัศน์เมื่อช่วงเช้าของวันนี้พาดพิงถึงสภากรุงเทพมหานครเรื่องความไม่โปร่งใสของงบแปรญัตติ และทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครเกิดข้อสงสัย และสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่บริหารงบประมาณ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องของความไม่โปร่งใส งบแปรญัตติ และการประมูลโครงการต่าง ๆ ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องนี้แบ่งได้ 2 ประเด็น คือ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ.2568 ที่จะมีการเสนอบุคคลภายนอก ที่มีความรู้ความสามารถในการพิจารณางบประมาณ และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบทุจริตเข้าไปเป็นคณะกรรมการนั้น ทางฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครไม่ขัดข้องเพราะฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายที่ต้องถูกตรวจสอบในทุกมิติ ส่วนเรื่องของงบแปร เรื่องงบประมาณที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้นำเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร ข้อบังคับการประชุมก็กำหนดชัดเจนว่าส.ก.ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องดูที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งความต้องการของประชาชนก็จะสะท้อนผ่านความต้องการของส.ก.ในพื้นที่เป็นหลัก จริง ๆ แล้วฝ่ายบริหารซึ่งมีอยู่ 10 กว่าคน เราพยายามทำให้ทุกอย่างโปร่งใส โดยฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก และต้องฟังส.ก.เพราะถือเป็นตัวแทนประชาชน นำมาจัดลำดับความสำคัญ และนำเสนอให้สภากทม.พิจารณาต่อไป
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง นายตกานต์ สุนนทวุฒิ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตหลักสี่ นายอำนาจ ปานเผือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางแค นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ นายนวรัตน์ อยู่บำรุง สมาชิกสภากรุงเทพทมหานคร เขตหนองแขม นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ และนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม
.
โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมอภิปรายในหลายประเด็น อาทิ ส.ก.ซึ่งเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนติดตามปัญหาและลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไข และส.ก.ลงพื้นที่ในทุกช่วงเวลาที่มีปัญหา การกล่าวถึงงบแปรญัตติ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.เสนอกลับเข้ามาหลังจากที่งบประมาณถูกปรับลด ส.ก. จะไม่ทราบล่วงหน้าว่ามีโครงการใดบ้าง จึงไม่ยุติธรรมกับส.ก.ที่ตั้งใจทำหน้าที่เพื่อประชาชน ในเรื่องนี้จึงควรจัดให้มีการแถลงข่าว ชี้แจงให้ชัดเจน
.
นอกจากนี้การบริหารกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 2 ส่วน คือฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภากรุงเทพมหานคร หากบุคคลภายนอกมีข้อเสนอแนะดี ๆ สามารถเสนอได้และเป็นสิ่งที่ดี แต่การแต่งตั้งบุคคลภายนอกมาร่วมพิจารณางบประมาณ ถือเป็นอำนาจของสภากรุงเทพมหานครที่จะตัดสินเอง เนื่องจากบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสภากทม.คือการพิจารณางบประมาณ การเสนอชื่อต้องเป็นไปตามมติของสภากรุงเทพมหานคร ถือเป็นเรื่องภายในและเป็นเรื่องท้องถิ่น ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่สภากทม.ไม่สามารถทำได้ อาทิ เรื่องข้อบัญญัติรถEV ซึ่งสุดท้ายพบว่าไม่อยู่ในอำนาจของกทม. ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่เราควรร่วมกันแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
.
นายพีรพล กล่าวว่า ส.ก.มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร และในสัดส่วนของสภากรุงเทพมหานครมีพรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว การจะให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ สภากทม.ไม่ขัดข้อง แต่จะเป็นการไม่เห็นความสำคัญของส.ก.ที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวแทน รวมถึงบุคคลภายนอกที่จะแต่งตั้งเข้ามาดูงบประมาณไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้ตอนนี้ประชาชนเกิดความสับสน และผู้ที่เสนอเรื่องนี้เองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาล กว่า 3 ล้านล้านบาท และมีเรื่องที่ต้องพิจารณามากกว่ากทม.หลายเรื่อง
.
“สภากทม. มีส.ก.ที่มีความสามารถในการตรวจสอบได้อยู่แล้ว เรื่องการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการอื่น หลังจากที่มีการตั้งงบประมาณไปแล้ว สภากทม.ไม่สามารถทราบได้ว่าบริษัทไหนจะได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนอื่น ไม่สามารถฮั้วกันได้ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนไปด้วย ถือเป็นเกียรติภูมิของสภากทม.เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนของท่านแล้ว ท่านต้องไว้ใจตัวแทนของท่าน ไม่ใช่ให้ใครหยิบยกบุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทน” นายพีรพล กล่าว
.
นายนภาพล กล่าวว่า ส.ก.ทุกท่านเมื่อได้รับทราบข่าวนี้ล้วนไม่สบายใจ และเห็นว่าผู้เสนอข่าวกล่าวว่าทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก ส.ก.เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ประชาชนมอบหมายให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร การให้บุคคลภายนอกมาทำหน้าที่แทนส.ก. แสดงให้เห็นว่าส.ก.ในพื้นที่ไม่มีความสามารถในการทำงานได้เลย ในส่วนของความกังวลเรื่องการทุจริตงบประมาณ ในการจัดงบประมาณมีราคากลางกำหนดจากกรมบัญชีกลางชัดเจน ไม่สามารถพิจารณาหรือกำหนดเกินกว่าที่กำหนดได้ การทุจริตจะอยู่ที่วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ในฐานะคณะกรรมการมีหลายโครงการที่ได้เรียกมาสอบถามรายละเอียด
.
“ปัจจุบันมีองค์กรที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทยหลายองค์กร เรียกมาตรวจสอบได้ เพราะเราเปิดเผยทั้งหมด และหลังจากที่พิจารณางบประมาณแล้ว สามารถมาตรวจสอบงบประมาณของแต่ละโครงการได้เลย หากกทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หากยอมให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม ต่อไปเมืองพัทยาก็จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย รวมถึงองค์กรท้องถิ่นอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ไม่สบายใจหากเป็นเช่นนี้ และขอให้ส.ก.ทุกท่านช่วยกัน ฝากถึงประชาชนและองค์กรต่าง ๆ เมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาไปแล้ว ท่านสามารถร่วมกันตรวจสอบได้ว่าโครงการไหนที่เสี่ยงต่อการทุจริต” นายนภาพล กล่าว
.
นายอำนาจ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา ๓๘ สภากรุงเทพมหานครมีอำนาจเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภากรุงเทพมหานคร และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือมิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร แล้วรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือบุคคลผู้มิได้เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้สภากรุงเทพมหานครตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญได้ในจำนวนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิเสนอนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนด
“การเสนอคนนอก ไม่ใช่การด้อยค่าสภากรุงเทพมหานครแต่อย่างใด เข้าใจว่าทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ การเสนอชื่อบุคคลภายนอกจึงเป็นไปตามกฎหมาย ตามอำนาจที่จะสามารถทำได้” นายอำนาจ กล่าว
.
นายพุทธิพัชร์ กล่าวว่า ตามข้อบัญญัติดังกล่าว สภากรุงเทพมหานครสามารถตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ และข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานครในหมวดที่ 5 การพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณ และการแปรญัตติ ส.ก.ทำได้เพียงการลด และตัด ในส่วนการเลือกคณะกรรมการสามารถเสนอชื่อได้ เชื่อว่าส.ก.มีความสามารถ ซึ่งยินดีปฏิบัติตามมติของสภากรุงเทพมหานคร
——————–

ผู้ชมทั้งหมด 156 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top