เร่งรัดกทม.สำรวจปรับปรุงลำกระโดง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
(3 ก.ค.67) ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 นายสุทธิชัย วีระกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เสนอญัตติเรื่องขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจลำกระโดงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและป้องกันการรุกล้ำที่สาธารณะ
.
เนื่องจากลำกระโดงในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายแห่งมีการสร้างบ้านรุกล้ำทำให้กีดขวางทางระบายน้ำ รวมถึงเมื่อมีการขุดลอกลำกระโดงหลายแห่ง ได้นำดินโคลนไปทิ้งบริเวณริมตลิ่ง เมื่อเกิดฝนตก ดินจะไหลลงไปในลำกระโดงเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการปล่อยปละละเลยขาดการดูแลรักษาทำให้ลำกระโดงรกร้าง ตื้นเขิน บางแห่งเปลี่ยว เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนที่อาศัยบริเวณนั้น
.
“กรุงเทพมหานครควรให้ความสำคัญกับประเด็นน้ำท่วมเป็นปัญหาหลัก ฝ่ายบริหารต้องกำชับให้ทุกเขตสำรวจลำกระโดงทุกแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยวางแผนดำเนินการขุดลอกลำกระโดงพร้อมสร้างดาดท้องคลอง รวมทั้งติดตั้งราวกันตกและไฟฟ้าส่องสว่างให้ทั่วถึงในลำกระโดงที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำก่อนแล้วจึงขยายจำนวนให้มากขึ้นในปีงบประมาณถัดไป จนครอบคลุมทุกแห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและป้องกันการรุกล้ำที่สาธารณะอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพด้านการระบายน้ำและความปลอดภัยแก่ประชาชน และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำลำกระโดงส่วนกลางกลับมาให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้”
.
นายสุทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่เขตจอมทอง มีคลองทั้งหมด 122 คลอง หลายคลองมีการขุดลอกครั้งสุดท้ายผ่านมาแล้วมากกว่า 10 ปี เช่น ลำกระโดง ดาดท้องคลองหลังโรงเรียนเลิศพัฒนา จอมทอง 13 ที่มีการลอกคลองครั้งสุดท้ายปี 2566 ตนมีความเข้าใจถึงข้อจำกัดทางงบประมาณทำให้ไม่สามารถขุดลอกคลองทุกพื้นที่ได้พร้อมกันทีเดียว ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครควรสั่งการไปถึงสำนักงานเขตในพื้นที่ ให้มีการสำรวจคลองและทยอยสร้างดาดท้องคลอง อย่างน้อยปีละ 1-2 แห่ง เพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะและป้องกันปัญหาน้ำท่วม
.
จากนั้นนายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ฝ่ายบริหารจะต้องเร่งสั่งการแนวดิ่งเพื่อให้สำนักงานเขตอัพเดตข้อมูลให้มีความเป็นปัจจุบัน ส่วนปัญหาลำกระโดงที่ไม่มีสภาพเหลือหรือไม่ปรากฏชัดเจน จะต้องมีการดำเนินการเชิงลึกต่อไป ยอมรับว่าการที่มีประชาชนบุกรุกในลำรางสาธารณะทำให้เกิดปัญหา และไม่สามารถควบคุมเรื่องน้ำท่วมได้ เพราะหากมีการขุดลอกคูคลองก็จะทำให้บ้านทรุดตัวลงไปในคลอง และยังมีปัญหาเรื่องการทิ้งขยะ ขับถ่ายลงคลอง ทำให้เกิดน้ำเสียด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องมีการดำเนินการในหลากหลายมิติ และทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น
————————————
ผู้ชมทั้งหมด 189 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง