ส.ก.ยานนาวา ฝากพิจารณาความคุ้มค่าการติดโซล่าเซลล์บนอาคารหน่วยงานกทม.
(3 ก.ค.67) เวลา 10.00 น. นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบแนวทางเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ของกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีนโยบายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน จึงอยากทราบว่าในปัจจุบันเหตุใดหน่วยงานและสำนักงานเขตในสังกัดของกรุงเทพมหานคร จึงยังไม่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารตามที่กำหนด เนื่องจากเป็นทางเลือกในการประหยัดพลังงานที่ดี ลดค่าใช้จ่าย และยังเป็นการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งล่าสุดทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาสำรวจอาคารแล้ว และกรุงเทพมหานครได้ MOU ความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในพื้นที่โรงควบคุมน้ำ 8 แห่งของกรุงเทพมหานคร โดยมีอายุสัญญา 25 ปี ค่าติดตั้งอุปกรณ์กว่า 147.5 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าไฟได้กว่า 46% ซึ่งตนอยากทราบว่า กรุงเทพมหานครต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเสียค่าเช่าอุปกรณ์ให้กับการไฟฟ้านครหลวงหรือไม่
.
รวมถึงระยะที่ 2 จะมีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าฯ ภายในพื้นที่อาคารสำนักงานเขตที่มีศักยภาพจำนวน 44 เขต และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครทั้ง 2 แห่ง รวมไปถึงระยะที่ 3 ที่มีแผนไปติดตั้ง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งในภาพรวมตลอดอายุสัญญา 25 ปี สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 2,400 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 694,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่า และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 2.3 ล้านต้น จึงอยากทราบว่ากรุงเทพมหานครมีการประมาณการเรื่องของการประหยัดค่าไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้านครหลวงได้เสนออย่างไรบ้าง ทั้งนี้ขอให้มีการคำนวณความคุ้มค่าจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตาม MOU ให้ถี่ถ้วน รอบคอบ
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไปตามนโยบายที่กรุงเทพมหานครผลักดัน เนื่องจากเป็นพลังงานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยพยายามติดตั้งในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ รวมถึงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตาม MOU กับการไฟฟ้านครหลวงนั้น กรุงเทพมหานครไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
.
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 9 แห่งนั้น ปัจจุบันสำนักการแพทย์อยู่ระหว่างการจัดจ้างติดตั้ง ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในส่วนของการดำเนินการตาม MOU กับการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 3 ระยะนั้น ได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่โรงควบคุมน้ำ 8 แห่งของกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของสำนักงานเขตทั้ง 44 เขต ก็สำรวจเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน อยู่ระหว่างการดำเนินการทำรายงานเสนอขอความเห็นชอบติดตั้งจากกรุงเทพมหานคร ในส่วนของระยะที่ 3 ขณะนี้ยังไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งกรุงเทพมหานครประมาณการการประหยัดพลังงานไฟฟ้าตรงกับการไฟฟ้านครหลวง จะทำให้กรุงเทพมหานครได้ประโยชน์ สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 2,400 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 25 ปี
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 163 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง