skip to Main Content
เสนอแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังสปสช.ปรับโมเดลให้บริการใหม่

เสนอแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังสปสช.ปรับโมเดลให้บริการใหม่

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (3 เม.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาของประชาชนในการเข้ารับบริการของหน่วยปฐมภูมิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากวันที่ 1 มี.ค.67 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลหรือรูปแบบการให้บริการ ทำให้ประชาชนและการให้บริการสาธารณสุขประสบปัญหาในการรักษา ประชาชนได้รับความทุกข์ยากในการส่งตัว ถูกปฏิเสธสิทธิ์ โมเดล 5+2 ที่นำมาใช้หลังจาก 1 มี.ค. รูปแบบใหม่ทำให้ประชาชนถูกย้ายสิทธิ์โดยที่ไม่รู้ตัว และต้องเสียเวลาในการเดินทางไปรักษาพยาบาล ในขณะที่คลินิกไม่อยากรับการส่งตัวเพราะจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ทางแก้หลัก ผู้ว่าฯ ในฐานะคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ควรดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้ตั้งกองทุนส่งตัวสำหรับประชากรในกรุงเทพฯ โดยคำนวณจากประชากรแฝงด้วย 2.ปรับรายการบริการและอัตราจ่ายแบบ Fee Schedule ของคลินิกร่วมปฐมภูมิ ให้ใกล้เคียงกับคลินิกปฐมภูมิต่างจังหวัด
.
จากนั้น นายนริสสร แสงแก้ว สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางเขน ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.อยู่ภายใต้สปสช. การปฏิบัติจึงต้องอยู่ภายใต้แนวทางของสปสช. ขอชี้แจงว่าศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ไม่ได้ไล่คนไข้ เราใช้คำว่าชี้แจงตามแนวปฏิบัติของสปสช. หากเข้ามาเราจะรักษาให้และreferให้ แต่เข้าใจว่าสปสช.มีปัญหาการเงิน จึงเปลี่ยนโมเดลใหม่ จึงเป็นที่มาที่ไปว่าใบส่งตัวเดิมใช้ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่คลินิกปฐมภูมิของคนไข้ และจะไม่มีผู้กลับไปจ่ายเงินให้ กทม.ยินดีที่จะนำปัญหาไปเสนอสปสช. เพราะมีหลายฝ่ายที่ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วการย้ายสิทธิ์ของผู้ป่วยทำไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ยินยอม การย้ายสิทธิ์ต้องถามประชาชนก่อน
ที่ผ่านมาคือก่อนวันที่ 1 มี.ค. ศบส.ที่รับผู้ป่วยจะเป็นผู้ออกใบส่งตัวแทนคลินิกอบอุ่นให้ ทำให้คนไข้ที่ไม่เคยไปคลินิกอบอุ่นเลยอาจจะเข้าใจว่าใบส่งตัวของตนเองอยู่ที่ศบส. เมื่อมาถึงวันที่ 1 มี.ค.และต้องไปรพ. ทางรพ.จะไม่รับใบส่งตัวนี้ ทำให้ต้องกลับมาที่ศบส. และต้องให้ประชาชนกลับไปยังคลินิกอบอุ่นต้นทางจริง ๆ เพื่อขอใบส่งตัวตามหลักของสปสช. กรณีที่ประชาชนอยากเปลี่ยนสิทธิ์ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเช็คสิทธิ์หรือเปลี่ยนสิทธิ์ได้ที่ สายด่วนสปสช. โทร . 1330 หรือศูนย์บริการของโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยกรณีการเปลี่ยนสิทธิ์ ประชาชนผู้ที่มีภูมิลำเนาอื่น ท่านผู้ว่าฯได้ให้เราตอบรับทั้งหมด ซึ่งในกทม.มีผู้ที่มีภูมิลำเนาอื่นประมาณ 2 ล้านคน ขณะนี้คลินิกปฐมภูมิดูแลประชาชน 1.9 ล้านคน ศบส.ดูแลประชาชน 9 แสนคน โดยขณะนี้สปสช.ได้ออกแนวทางให้คลินิกปฐมภูมิออกใบส่งตัวให้อย่างน้อย 90 วัน เนื่องจากบางโรคที่ซับซ้อน ต้องมีการปรับยาและเงื่อนไข จึงไม่สามารถให้ระยะยาวได้ เมื่อใบส่งตัวหมดอายุต้องขอให้กลับไปที่หน่วยปฐมภูมิเดิมเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ก่อน ทั้งหมดนี้กทม.ได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด โดยขณะนี้หากประชาชนมารับบริการที่สถานพยาบาลของกทม. เราจะรับรักษาให้แต่หากใบส่งตัวหมดอายุขอให้ทำตามแนวทางที่สปสช.กำหนดคือการกลับไปที่หน่วยปฐมภูมิที่แท้จริง เพื่อออกใบส่งตัวใหม่
——————–

ผู้ชมทั้งหมด 218 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top