เสนอเพิ่มศักยภาพเรียนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนกทม. เพิ่มโอกาสพัฒนาคน ก้าวสู่การพัฒนาเมืองในอนาคต
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (7 ก.พ.67) นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล ส.ก.เขตธนบุรี เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาต่างประเทศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีโครงการโรงเรียนสองภาษา โดยในปีการศึกษา 2566 มีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 88 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 42 เขต แบ่งเป็นหลักสูตรไทย-อังกฤษ จำนวน 74 โรงเรียน และหลักสูตรไทย-จีน จำนวน 14 โรงเรียน เป็นการพัฒนาทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน ให้เป็นไปตามระดับมาตรฐานสากล โดยหลักสูตรไทย-จีน เริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น และไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องที่จะนำความรู้ไปใช้ในอนาคตได้อย่างเพียงพอ จึงเห็นควรพิจารณาจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียน รวมถึงพิจารณาเพิ่มหลักสูตรในภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้การเรียนภาษาต่างประเทศของนักเรียนมีความต่อเนื่อง สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติได้ในชีวิตจริง
.
“คนคือศูนย์กลางแห่งการพัฒนา และการพัฒนาเมืองต้องเริ่มจากการพัฒนาคนก่อน หากคนไม่ดีจะทำให้เมืองเสื่อมเสียไปด้วย ปัจจุบันพบว่าหลายโรงเรียนสังกัดกทม.มีสภาพภายนอกสวยงาม แต่มีนักเรียนจำนวนน้อยมาก เนื่องจากประชาชนไม่สนใจส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง ๆ ที่สามารถเรียนได้ฟรี แต่ประชาชนยังนิยมเสียเงินเพื่อส่งเด็ก ๆ ไปเรียนที่โรงเรียนเอกชน เพราะเชื่อมั่นในการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชน ประกอบกับการเรียนการสอนแบบสองภาษาของกทม.มักจะเริ่มจากการสอนระดับป.4-6 ซึ่งมีผลการวิจัยที่บอกว่าการเรียนรู้ของเด็กให้เริ่มในช่วง 4 ปีแรกของชีวิต การเรียนภาษาที่สอง ที่สาม มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะการเรียนภาษาจีนซึ่งต่อไปจะมีความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กนักเรียนกทม.ได้มีความรู้ในระดับสากลมากขึ้น จึงขอให้กทม.ได้ให้โอกาสกับเด็กโรงเรียนสังกัดกทม.และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองต่อไป” นายจิรเสกข์ กล่าว
.
ทั้งนี้ นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสาน นางเมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตปทุมวัน และนายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ด้วย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาเรื่องการศึกษาคือการแก้ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน หัวใจสำคัญคือความไว้วางใจของผู้ปกครอง ที่ผ่านมากทม.ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน คืนครูให้กับนักเรียน หลักสูตรก็มีหลายภาษา ภาษาจีนก็ได้หารือกันมานาน และหลายปัญหาฝ่ายบริหารกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเด็นเรื่องโรงเรียนสองภาษา ปัจจุบันโรงเรียนกทม.มีการสอนภาษาจีนในระดับชั้นประถม 1 – 6 จำนวน 14 แห่ง โดยระดับเด็กเล็กจะมุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาด้านสมอง และร่างกาย และจะเน้นเรื่องของภาษาในช่วงระดับชั้นป.1 ซึ่งเมื่อจบป.6 แล้วเราก็มาดูกันว่าจะทำอย่างไรต่อ และพบว่าทั้ง 14 แห่ง มีโรงเรียนขยายโอกาสถึงม.3 อยู่ด้วย 3 แห่ง ซึ่งกำลังจะขยายผลต่อยอดเรื่องภาษาให้ถึง ม.3 ทั้ง 3 แห่ง สำหรับเรื่องของโรงเรียนขนาดเล็ก กทม.ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจพบว่าโรงเรียนที่มีเด็กไม่ถึง 100 คน มีจำนวน 49 แห่ง ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าการควบรวมโรงเรียนต้องคิดให้รอบด้าน จากข้อมูลกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาปัจจุบันมีเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในช่วงอายุ 3-18 ปี กว่า 1.3 แสนคน ที่ไม่มีโรงเรียน เราจึงต้องพิจารณาการเข้าถึงโรงเรียนด้วย ในส่วนการยกระดับคุณภาพการศึกษาคือการยกระดับทุกโรงเรียนไปด้วยกัน จึงไม่สามารถเลือกทำด้านใดด้านหนึ่งได้ หัวใจคือการลดเวลาชั่วโมงเรียน เพิ่มชั่วโมงวิชาการลงมือทำ เพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น จึงจะมีการปรับหลักสูตรการเรียนให้นักเรียนมีทักษะที่ดีขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องบ้านพักครู บุคลากรของโรงเรียนให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และร่วมกันดูแล ยกระดับการศึกษากทม.
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 451 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง