กทม.เตรียมพร้อมแผนรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำหนดมาตรการเร่งด่วนและแผนระยะยาว
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (25 ต.ค.66) : นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางรัก ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เริ่มกลับมาวิกฤตอีกครั้ง โดยค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของประชาชน จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. ขอทราบมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
2. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว
.
“ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้แจ้งเตือนพื้นที่กทม. ดัชนีคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งประชาชนมีความกังวลและได้อยากทราบถึงมาตรการการเตรียมตัวรับมือกับฝุ่นของกทม. และขอเสนอแนะเพิ่มเติมในเรื่องของเครื่องฟอกอากาศ 1,743 เครื่อง ที่กทม.ได้จัดซื้อให้กับเด็กอนุบาลเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่ากทม.ก็มีนักเรียนในระดับอื่น จึงขอให้กทม.ดำเนินการให้ครอบคลุมด้วย” ส.ก.วิพุธ กล่าว
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สาเหตุที่ฝุ่นเพิ่มขึ้นเยอะเนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด ไม่ถ่ายเท การวัดค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพมหานครจะวัดเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่มีหน่วยเป็น ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่างจากค่า AQI ที่เอาตัวเลขก๊าซที่เป็นพิษอื่น ๆ เข้ามารวมด้วย ทำให้ค่าสูงกว่า โดยมาตรการลดฝุ่นที่ทำมาตลอด 365 วัน ไม่ได้ทำเฉพาะช่วงที่มีฝุ่น คือ การตรวจแหล่งกำเนิด เน้นการตรวจที่แหล่งกำเนิด PM2.5 ในกทม.เป็นหลัก เช่น สถานประกอบการโรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง ในการตรวจสอบยานพาหนะ สภาพรถและควันรถที่สถานที่ต้นทาง เช่น ขนส่ง อู่รถโดยสารประจำทาง และ Hot Spot จุดความร้อนเผาไหม้จากดาวเทียม ซึ่งในพื้นที่ของกทม.จะพบอยู่รอบนอกฝั่งตะวันออกที่มีการทำเกษตรกรรม เมื่อพบจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดู แต่ส่วนใหญ่แล้วการเผาไม่ได้อยู่ในกทม. จะอยู่ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศและลมพัดเข้ามา
.
ในส่วนของแผนลดฝุ่น PM2.5 ของกทม. ประกอบด้วย การติดตามเฝ้าระวังโดยนักสืบฝุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิจัยแหล่งกำเนิดฝุ่น ร่วมกับทำ Riks Map เพื่อแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุ ติดตั้ง Sensor ปัจจุบันมี 700 กว่าจุด ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,000 จุด และสร้างการมีส่วนร่วมโดย Traffy Fondue ไว้ให้ประชาชนแจ้งเหตุ การกำจัดต้นตอโดยการตรวจยานพาหนะควันดำ พัฒนาทางเท้า ส่งเสริมการใช้รถ EV โดยการเพิ่ม Charging Station รวมถึง Feeder สนับสนุนรถอัดฟางแก่เกษตรกรแก้ไขปัญหาการเผา การป้องกันภาคประชาชน เช่น ฝึกนักเรียนโรงเรียนกทม. ให้รู้ระดับความรุนแรงของฝุ่น ทำสวน 15 นาที ทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในโรงเรียนและโรงพยาบาล และการล้างถนนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
.
สำหรับแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต จะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ในระดับสีส้ม (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) จัดตั้ง War Room แจ้งเตือนประชาชน และมีแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ปรับปรุงให้มีความละเอียดขึ้น พยากรณ์ได้แม่นยำและล่วงหน้าได้มากขึ้น ประสานกับตำรวจจราจรเรื่องการห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและถนนสายรอง เพิ่มความถี่ในการตรวจต้นตอฝุ่น ในภาคประชาชน เพิ่มมาตรการเข้มโรงเรียนสู้ฝุ่น 437 แห่ง แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก จัดหน่วยแพทย์เคลื่นที่ 50 เขต คลินิกมลพิษทางอากาศ 7 แห่งพร้อมขยายเวลาทำการ
.
ในระดับสีแดง (75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) จะมี LINE Alert เตือน ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ แจ้งให้หยุดการก่อสร้างในบางพื้นที่ สนับสนุนให้คนมาใช้ BTS ด้วยการอาจมีการลดหรืองดค่าโดยสารส่วนต่อขยาย อีกทั้ง กทม.ยังมีเครือข่าย Work from Home ที่มีบริษัทร่วมด้วย 100 บริษัท รวม 40,000 คน ซึ่งหากมีการประกาศขอความร่วมมือ Work from Home บริษัทเหล่านี้ก็พร้อมให้ความร่วมมือ และติดต่อขอทำฝนหลวงในพื้นที่ เป็นต้น
.
“เรื่องฝุ่นคงต้องร่วมกันทุกภาคส่วน เพราะฝุ่นบางส่วนก็ไม่ได้มาจากกทม. การนำมาตรฐานยูโร 5 มาใช้ คาดว่าจะทำให้ฝุ่นลดลงได้ในระดับนึง สำหรับเรื่องมาตรการความเดือดร้อนรำคาญ การควบคุมการก่อสร้าง เป็นหน้าที่โดยตรงของกทม. ซึ่งในอนาคตจะนำข้อมูลโครงการก่อสร้างต่างๆ ขึ้นแผนที่เพื่อให้ผู้รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบ เพื่อติดตามความถูกต้องต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
————————
ผู้ชมทั้งหมด 1,046 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง