skip to Main Content
5 หน่วยงานสาธารณูปโภค รับฟังเสียงสะท้อนจากสภากทม. เปิดมิติใหม่บูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรง

5 หน่วยงานสาธารณูปโภค รับฟังเสียงสะท้อนจากสภากทม. เปิดมิติใหม่บูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรง

🏨 (18 ก.ย.66) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ : นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมกับองค์กรสำคัญในกรุงเทพมหานคร โดยมี นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
.
✨ “วันนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกันครั้งแรก เพื่อประโยชน์ของประชาขนกรุงเทพฯ ในส่วนการทำงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการตั้งคณะกรรมการสามัญเพื่อดูแลประชาชน 12 คณะ และบางคณะก็มีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงกฎหมายการบริหารราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติบางข้อก็ไม่ได้เอื้อให้สภากรุงเทพมหานครสามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ ในวันนี้ถือเป็นการทำงานในมิติใหม่ของเรา” ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าว
.
🏨 สภากรุงเทพมหานคร กำหนดจัดการประชุมร่วมกับองค์กรสำคัญในกรุงเทพมหานคร 5 หน่วยงาน คือ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 ท่าน ได้เป็นสื่อกลางในการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในการแก้ไข แต่ภารกิจยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
📌 สำหรับ ประเด็นหลักในการหารือในวันนี้ คือ แนวทางการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพฯโดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง 4 ประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นด้านการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) การขุดวางท่อน้ำประปา ผลกระทบจากการก่อสร้าง การคืนพื้นที่ให้กรุงเทพฯ
2. ประเด็นด้านการจราจร เช่น ปัญหาควันดำจากยานพาหนะ ปัญหารถสวนเลน จุดกลับรถ สัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ
3. ประเด็นด้านการบริการ เช่า การบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่าง หลอดไฟในชุมชน
4. ประเด็นด้านการสื่อสาร เช่น การติดตั้งสายสื่อสารโทรคมนาคม
.
• ร่วมถาม-ตอบ พร้อมถกหารือประเด็นปัญหาหลัก บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
.
📌ในการประชุมผู้แทนหน่วยงานสาธารณูปโภค ร่วมให้ข้อมูลภาพรวมภารกิจที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในพื้นที่กทม. และชี้แจงคำถามจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดังนี้
.
📣 ผู้แทนรฟม. กล่าวว่า ภารกิจปัจจุบันของรฟม.คือการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ โดยรฟม.มีแผนการจัดการจราจร โดยประสานบช.น.และสน.ท้องที่ให้รับทราบเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างบ่อพักและท่อไร้สายใต้ดิน และงานปรับปรุงระบบส่งน้ำของการประปา โดยทุกโครงการจะประสานเพื่อใช้ผู้รับจ้างเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปครั้งเดียว มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการรื้อถอน นอกจากนี้รฟม.ยังมีการจัดอบรมอาสาจราจร ลดผลกระทบด้านการจราจร
.
📣 ผู้แทนรฟม. กล่าวชี้แจงใประเด็นที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครสอบถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างล่วงหน้าเป็นเวลานาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับผู้ที่สัญจรไปมาไม่ได้รับความสะดวก การส่งมอบพื้นที่ก่อนและหลังดำเนินการ ว่า การปิดกั้นพื้นที่ยังคงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุแต่จะได้กำชับให้ปิดกั้นพื้นที่ให้เหมาะสมกับช่วงระยะเวลาการก่อสร้างจริง สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการค้าขาย ได้พยายามช่วยเหลือและชดเชยให้เต็มที่ รวมถึงผู้ที่ต้องเวนคืนที่ดินด้วย คาดว่างานก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.67 การคืนผิวจราจรเป็นนโยบายหลักที่เน้นย้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการคืนผิวจราจรที่ได้ประสานงานกับสำนักการโยธาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
.
📣 ผู้แทนกปน. กล่าวถึงปัญหาการขุดท่อน้ำทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ว่า มีแนวทางการในการแก้ปัญหาร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยจะเปลี่ยนฝาบ่อเป็นขนาดไม่เกิน 4 แผ่นต่อบ่อ และจะเก็บงานให้เรียบร้อย รวมถึงให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวด สำหรับบริษัทที่รับช่วงงานทำงานจะกวดขันบริษัทให้ทำงานให้เรียบร้อย และวางแผนก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในคราวเดียว
.
📌 ทั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่เข้าไปร่วมเป็นกรรมการตรวจรับงานของกปน.ด้วย เนื่องจากหากเขตทราบขั้นตอนการทำงานจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ทำให้ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจะสอดคล้องกับคุณภาพความปลอดภัย และขอให้กปน.เร่งสำรวจและทดสอบประปาหัวแดงให้ครบทุกจุด เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดเพลิงไหม้
.
📣ผู้แทนกปน. กล่าวถึงกรณีในพื้นที่ทางสาธารณะที่ยังขาดท่อประปา ว่า กปน.ยินดีเข้าไปดำเนินการให้ สำหรับในจุดต่าง ๆ ที่ส.ก.แจ้งปัญหาจะเร่งแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้กปน. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกันไปพร้อมกับหน่วยงานอื่น รวมถึงการตั้งคณะทำงานร่วมกันด้วย
.
📣 ผู้แทนกองบังคับการตำรวจจราจร ชี้แจงภาพรวมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ปัญหาการขับขี่บนทางเท้าในพื้นที่กทม.จะมีโทษปรับ ซึ่งทางเทศกิจของกทม.เป็นผู้ดูแล เมื่อทางตำรวจได้รับทราบเหตุในพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปทำภารกิจอื่นก็จะมีผู้กระทำผิดอีก จึงเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผลต้องเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับให้ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จะทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว จึงขอให้มีการพัฒนาใช้กล้องวงจรปิดที่สามารถออกใบสั่งได้ทันที เพื่อให้การทำงานเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในรายละเอียดคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงขอความร่วมมือส.ก.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ทุกปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างมีระเบียบและเรียบร้อย สำหรับแนวทางการการยกซากรถยนต์ในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น หากทางกทม.หรือเขตมีพื้นที่จัดเก็บรถยนต์ ตำรวจสามารถเข้าไปจัดเก็บให้ได้ เนื่องจากตำรวจจะมีรถยกอยู่แล้ว
.
📌 โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า หากหน่วยงานเห็นว่าการอุดหนุนงบประมาณของกทม.จะมีประโยชน์ อาทิ ในเรื่องของกล้องวงจรปิดหรือเรื่องอื่น ๆ ขอให้ดำเนินการร้องขอมา กทม.พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
.
📣 ผู้แทนกสทช. และกฟน. ร่วม ชี้แจงปัญหาการจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรัง ว่า ปัญหาสายที่รกรุงรังไม่ใช่สายไฟฟ้า แต่ทั้งหมดเป็นสายสื่อสาร ในส่วนของกฟน.อยู่ระหว่างการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน ช่วงถนนพหลโยธินเพื่อให้พื้นที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน ทั้งนี้ ผู้แทนกสทช.ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนปัญหาสายสื่อสาร กรณีพบสื่อสารชำรุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อได้รับการแจ้งกสทช.จะเข้าแก้ไขทันที หรือเมื่อพบสายสื่อสารขาดและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ จะแก้ไขภายใน 5 วัน หรือเมื่อพบสายสื่อสารห้อยตกลงมาโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน กรณีที่ทราบหน่วยงานเจ้าของสายจะสามารถประสานให้แก้ไขได้โดยเร็ว แต่หากไม่ทราบจำเป็นต้องใช้เวลาในการแจ้ง โดยหากพบสายสื่อสารที่เสียหาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1200 ทั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมเสนอ แนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาช่องทางการติดต่อ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
————————————–
    

ผู้ชมทั้งหมด 316 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top