คณะกรรมการวิสามัญฯพิจารณางบปี 67 กทม. ติดตามความคืบหน้าโครงการชุมชนเข้มแข็ง กำชับแก้ไขปัญหาให้ตรงความต้องการของชุมชน
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (17 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยในวันนี้เป็นการพิจารณาหน่วยงานระดับสำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตบางรัก ปทุมวัน ยานนาวา พระโขนง สาทร บางคอแหลม คลองเตย สวนหลวง วัฒนา พระนคร และห้วยขวาง
.
คณะผู้บริหารเขต พร้อมผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขอจัดสรรงบประมาณ โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและสอบถามรายละเอียดในหลายรายการ อาทิ สำนักงานเขตบางรัก ได้สอบถามรายงานการจัดเก็บภาษี ลูกหนี้ค้างชำระย้อนหลัง 10 ปี ปัญหาอุปสรรคการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในฐานภาษีใหม่ ซึ่งเขตรายงานว่าคาดจะสามารถจัดเก็บได้ครบตามที่ประมาณการณ์ไว้ เนื่องจากบางส่วนจะชำระภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เขตบางรักสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้คณะกรรมการได้สอบถามปัญหาอุปสรรคโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นโครงการที่สภากรุงเทพมหานครและฝ่ายบริหารให้ความสำคัญมาก เพื่อให้งบประมาณสามารถลงไปสู่ชุมชน และแก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการของชาวชุมชนอย่างแท้จริง ในส่วนของการปรับปรุงทางเท้า คณะกรรมการวิสามัญฯ กำชับให้เขตดำเนินการตามแนวทางที่สำนักการโยธากำหนด โดยคำนึงถึงจุดเชื่อมต่อทางแยก ท่อระบายน้ำ คอกต้นไม้ และหลัก Universal Design เป็นสำคัญ รวมถึงให้เข้มงวดกวดขันการขายสินค้าบนฟุตบาททางเท้าด้วย เนื่องจากเขตบางรักเป็นพื้นที่เขตชั้นในที่ถือเป็นหน้าตาของกรุงเทพมหานคร
.
เขตปทุมวัน คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามปัญหาอุปสรรคความล่าช้าโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานครเห็นความสำคัญและได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณไปแล้วเพื่อให้สำนักงานเขตปทุมวันได้มีอาคารสำนักงานของตัวเอง และประชาชนได้รับความสะดวกในการไปใช้บริการ รวมถึงได้สอบความคืบหน้าการดำเนินการบังคับคดีในคดีที่ค้างอยู่ และการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีการร้องเรียน
.
เขตบางคอแหลม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามถึงแนวทางการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ได้มีการตรวจสอบหัวจ่ายจากสถานประกอบการหรือไม่ หากไม่สุ่มตรวจอาจส่งยอดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครสูญเสียรายได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยประเด็นนี้ สำนักการคลังรายงานต่อที่ประชุมว่า การตรวจสอบยอดขายน้ำมันจะใช้วิธีการเทียบกับเอกสารที่สถานประกอบการยื่นกับกรมสรรพากร ซึ่งการตรวจสอบหัวจ่ายของสถานประกอบการมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ตรวจสอบ และในอนาคตจะมีการถ่ายโอนภารกิจควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ให้กับกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ
———————————-
ผู้ชมทั้งหมด 286 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง