สภากทม.ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษาและด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมืองยาชิโย
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นำคณะผู้แทนสภากรุงเทพมหานครเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษา โดยมี ผู้บริหาร โรงเรียนประถมศึกษาโอวาดะ เมืองยาชิโย ประเทศญี่ปุ่น ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล
.
สำหรับหลักสูตรการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้นักเรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พอเหมาะเป็นการปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเสมอภาค เน้นในเรื่องความยืดหยุ่น มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้มีความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกในสิ่งที่ตนเองชอบ พร้อมสนับสนุนให้ร่วมมือกันทำงานเป็นกลุ่ม นอกจากนี้ ยังปลูกฝังและพัฒนานักเรียนให้มีกรอบความคิดระดับโลก เพื่อที่จะช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถสร้างความเป็นอิสระได้ทุกที่ในโลกได้สำเร็จ
.
ด้านนโยบายการบริหารจัดการของผู้บริหารโรงเรียนได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปีนี้คือ
1.ส่งเสริมสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่จะทำให้นักเรียนแต่ละคนตั้งตารอที่จะมาเรียนทุกวันและกลับบ้านด้วยความรู้สึกประสบความสำเร็จ
2.ส่งเสริมและสร้างรากฐานทางวิชาการที่มั่นคงบนพื้นฐานของประสบการณ์การเรียนรู้ และการคิดอย่างอิสระ
3. ดูแลสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัย ของนักเรียน
4. สร้างวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เคารพสิทธิมนุษยชน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความรู้สึกยุติธรรมให้ปลูกฝังอยู่ในทุกคน
5. ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของโรงเรียนเอื้อต่อการเรียนรู้ ด้วยการสร้างบรรยากาศที่สงบและสะดวกสบาย
6. ร่วมมือกับผู้ปกครองอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เป็นโรงเรียนที่เชื่อถือได้
.
ในการนี้คณะฯ ได้เดินชมบรรยากาศการเรียนการสอนของนักเรียนในหลากหลายวิชาและได้ร่วมกิจกรรมการโยนบอลร่วมกับเด็กนักเรียนอีกด้วย
.
จากนั้นเวลา 15.30 นาทีตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ประธานสภากรุงเทพมหานครและคณะฯ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ สถานีดับเพลิงยาชิโย
.
ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมและรับชมการสาธิตการฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยบนตึกสูงจากนักดับเพลิงของสถานียาชิโย ว่า สถานีดับเพลิงยาชิโยเป็น 1 ใน 5 ของสถานีดับเพลิงในจังหวัดชิบะและยังเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในเมืองยาชิโยอีกด้วย ภายในสถานีมีหน่วยกู้ภัยพิเศษที่ต้องฝึกฝนการกู้ภัยกลางแดดเป็นเวลา 4 ชม.ต่อวันรวมถึงหน้าหนาวด้วยเช่นกัน ซึ่งระหว่างที่คณะสภากทม.รับฟังบรรยายเกี่ยวกับรถกู้ชีพและรถดับเพลิงขนาดต่างๆ นั้น ได้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้สถานีดับเพลิงต้องส่งหน่วยกู้ภัยออกปฏิบัติหน้าที่ และคณะฯ ได้รับรู้กระบวนการการทำงานของนักดับเพลิงสถานียาชิโยอย่างใกล้ชิด ทั้งวิธีการแจ้งเหตุรวมไปถึงวิธีการสั่งการรถหน่วยต่างๆ เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่แบบเฉพาะเจาะจง โดยอุปกรณ์การกู้ภัยกับอุบัติเหตุ พื้นที่เกิดเหตุหรืออุบัติภัยต้องสอดคล้องกัน
“ความรู้ที่ได้จากสถานการณ์จริงครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก และเห็นว่าบางส่วนอาจจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับหน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้ ซึ่งผลจากการประชุมหารือครั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะได้รวบรวมและนำไปเป็นข้อมูลประกอบการติดตามการทำงานหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับชาวกรุงเทพฯ ให้มากยิ่งขึ้น” ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าว
.
จากนั้นคณะฯ ได้ร่วมถ่ายภาพพร้อมมอบยาดมที่เป็นหนึ่งใน soft power ของเมืองไทยให้กับนักดับเพลิงของสถานี
————————-
ผู้ชมทั้งหมด 48 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง