สภากทม.เห็นชอบร่างข้อบัญญัติสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร พร้อมตั้งข้อสังเกตควรจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
สภากทม.เห็นชอบร่างข้อบัญญัติสถานที่จำหน่ายอาหารและสะสมอาหาร พร้อมตั้งข้อสังเกตควรจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
(2 มี.ค.65) นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร
ในที่ประชุม นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. … ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ ฯตามที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 กำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารเพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งมีผลให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายอาหาร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ในส่วนที่เกี่ยวกับ
สถานที่จำหน่ายอาหารไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว รวมถึงมีความจำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จึงสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารที่ต้อง
มีการควบคุมกำกับดูแลภายในเขตกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการวิสามัญฯได้มีการแก้ไขและตัดออกรายละเอียดในข้อบัญญัติฯหลายรายการ อาทิ สถานที่สะสมอาหารที่มีการตัดแต่งอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำเสีย ได้แก่ ต้องมีการระบายน้ำได้ดี มีตะแกรงดักเศษอาหารและไม่มีน้ำขัง และต้องมีการแยกไขมันไปกำจัดก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำ โดยใช้ถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน สถานที่สะสมอาหารที่มีการตัดแต่งอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับการทำความสะอาดภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ตามหลักเกณฑ์ ได้แก่ ภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ ที่รอการทำความสะอาด ต้องเก็บในที่ที่สามารถป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคได้ มีการใช้สารทำความสะอาดที่เหมาะสม เป็นไปตามคำแนะนำการใช้สารนั้น
โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกต ดังนี้ กรุงเทพมหานครควรจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ รวมทั้งต้องออกประกาศกำหนดแบบการแจ้งและการออกหนังสือรับรองการแจ้ง การขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับวันบังคับใช้ข้อบัญญัตินี้ และต้องตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหารให้แล้วเสร็จก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุเก้าสิบวัน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยตรวจรับรองภาคเอกชนสามารถดำเนินการตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร ก่อนการขอใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตได้ จากนั้นสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติฯในวาระที่สอง และวาระที่สาม
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พ.ศ. … ด้วยกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการโยธาและระบบจราจร ด้านการศึกษา ด้านการระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย ปัญหาน้ำท่วม ด้านการสาธารณสุข ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตามความจำเป็นที่หน่วยงานเสนอ จึงได้ขอเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร วงเงินกว่า 11,479 ล้านบาท หน่วยงานที่รับงบประมาณ 11 สำนัก 37 สำนักงานเขต จำแนกวงเงินงบประมาณตามลักษณะงาน ดังนี้ ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง ร้อยละ 47.18 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 30.15 การจัดบริการของสำนักงานเขต ร้อยละ 10.65 ด้านสาธารณสุข ร้อยละ 5.35 ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 3.2 ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง ร้อยละ 2.09 ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ร้อยละ 0.93 ด้านการศึกษา ร้อยละ 0.37 และด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ ร้อยละ 0.02
ทั้งนี้สภากรุงเทพมหานครมีมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวและแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 28 ท่าน กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ขอบคุณข่าวจาก สํานักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ผู้ชมทั้งหมด 880 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง