skip to Main Content
เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนพัฒนากทม.

เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนพัฒนากทม.

การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 ม.ค.67) นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ของกรุงเทพมหานคร

.

เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีระบบนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” กรุงเทพมหานครได้ปรับเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานภายในและการให้บริการประชาชน เช่น การนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2566-2570) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศให้สนับสนุนแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนและนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ กระบวนการทำงาน และกฎระเบียบทางราชการที่อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร สามารถขับเคลื่อนและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร

.

ทั้งนี้ ส.ก.กิตติพงศ์ ได้ยกตัวอย่างปัญหาของหน่วยงานทั้งระดับสำนักและสำนักงานเขต อาทิ เอกสารทุกชนิดไม่ได้เป็นดิจิทัลทั้งหมด Softwareของคอมพิวเตอร์มีหลายรุ่น ไม่มีระบบBack up ไม่มีAnti virus การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการป้องกันการโจรกรรม สำหรับข้อเสนอแนะ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบนัดพบแพทย์ จองวัคซีน ระบบ Online learning ระบบblock chain เพื่อความโปร่งใส การพัฒนาTraffy fondue เป็นsuper app ให้เป็นแอปเดียวสำหรับชาวกทม. เป็นการรวมงานบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และให้การพัฒนาดิจิทัลกทม.เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

.

จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก

.

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอบคุณสภากรุงเทพกรุงเทพมหานครที่ให้ความสำคัญกับแผนงานดิจิตอลของกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาที่ผ่านมาคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งรวมอยู่ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี เป็นแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2561 – 2565 และในช่วงปลายปี 2565 ได้มีการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มขึ้นมาหลายรายการ ต่อมา แผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอลในช่วงปี 2566 – 2577 ได้มีการพัฒนาให้เป็นSmart BMA และSmart city ในกรณีนี้ ได้มุ่งเน้นในเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของกรุงเทพมหานคร ผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ฐานข้อมูล และInfrastructure ได้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านดิจิตอลโดยเฉพาะมากำกับดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนโยบายOpen policy ที่สามารถเปิดดูได้ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ ยังให้แทรกPolicy ภายใต้การทำงานของหน่วยงานสำนักและสำนักงานเขต และเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย ถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้Open Platformเกิดขึ้น

.

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือก.ก.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างให้เกิดเป็นสำนักดิจิตอล โดยแยกอย่างชัดเจนกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เพื่อดูแลยุทธศาสตร์ทางด้านดิจิตอลทั้งหมด รวมทั้งเชื่อมต่อระบบความปลอดภัยทั้งหมดซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงาน คิดว่าไม่น่าจะเกินไตรมาสแรกของปีนี้จะแล้วเสร็จ เห็นเป็นโครงสร้างได้

.

นายประสพสุข พิมพโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอมรับว่าระบบของกรุงเทพมหานครมีปัญหาจริงแต่สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ปัญหา ซึ่งพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อสนองตอบต่อนโยบายและสนองตอบต่อพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2565 แต่เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครมีขนาดใหญ่และมีภารกิจที่หลากหลาย จึงเป็นข้อจำกัดในการที่จะดำเนินการให้ลุล่วงได้ อย่างไรก็ตามสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลได้เร่งรัดที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเก็บภาษีระบบBMA TAX หรือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีระบบData center และระบบCloud รวมถึงฐานข้อมูลกลางที่ให้ให้บริการ ส่วนกลางตั้งแต่ปี 2563 และในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ระบบจัดเก็บภาษีของสำนักงานการคลังได้เริ่มต้นใช้ ซึ่งพบว่ามีปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบซอฟต์แวร์ เมื่อเริ่มใช้งานมาจนครบปีงบประมาณและเริ่มเข้าสู่ปีภาษีใหม่หรือเดือนนี้พบว่าความขัดข้องของระบบมีน้อยมาก ซึ่งได้เตรียมทรัพยากรเพื่อรองรับข้อมูลการจัดเก็บภาษีใหม่แล้ว ในแง่ความปลอดภัยของข้อมูลใหม่ขณะนี้ได้มีมาตรฐานเรื่องความมั่นคง รวมถึงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษา ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และระบบต่างๆรวมถึงได้มีข้อเสนอเสนอแนะในการปิดช่องโหว่การดำเนินการที่จะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงความปลอดภัยของข้อมูลด้วยเช่นกัน

จากนั้น ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาศึกษา 90 วัน
—————————

 

ผู้ชมทั้งหมด 719 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top