เสนอแนวทางกทม. แก้ปัญหาการใช้สอยร่วมกันของประชาชน
(19 มิ.ย. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
ในที่ประชุม นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอสอบถามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
.
ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเขตรอบนอกส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องของการใช้สอยร่วมกันของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ และมีการออกระเบียบแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ข้าราชการสามารถดำเนินการได้แต่ว่ามีแนวทางปฏิบัติในหลายข้อ ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่วมกันและแถลงต่อสภาแห่งนี้พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะให้กับทางผู้บริหารได้ดำเนินการในเรื่องของการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกันซึ่งมีด้วยกัน 4 ข้อ คือ
1. กรุงเทพมหานครควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ.2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีความชัดเจน รัดกุม และสอดคล้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกันสามารถทำได้อย่างถูกต้อง เต็มประสิทธิภาพ และลดปัญหาการฟ้องร้อง
2. กรุงเทพมหานครควรพิจารณายกเลิกแนวทางตามหนังสือที่ กท 0405/9567 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง แนวทางการรับโอนสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้เป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องจากแนวทางที่กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก
3. กรุงเทพมหานครควรพิจารณาทบทวนแนวทางตามหนังสือที่ กท 0405/328 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานไม่เกิดความสับสนในการดำเนินการ และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
4. กรุงเทพมหานครควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกันในแต่ละกรณีให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“แนวทางปฏิบัติตามหนังสือกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่ เนื่องจากว่าฝ่ายโยธาของสำนักเขตนั้นผลัดเปลี่ยนตลอด บางคนยังไม่เข้าใจในสภาพของพื้นที่ บางคนยังอ่านแนวทางปฏิบัติไม่ครบทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้อ่านข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครครบทุกข้อ เมื่อถึงเวลาที่มีพี่น้องประชาชนมาขอแก้ไข มาขอให้ปรับปรุงก็ไม่สามารถดำเนินการได้ พูดอย่างเดียวว่าไม่ใช่ที่สาธารณะไม่สามารถดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ถึงแม้จะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนก็ตาม ในเรื่องของการนำงบประมาณลงไปใช้แก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ถึงแม้โยธาบอกว่าน่าจะทำได้ แต่หากสำนักงบประมาณไม่มีงบประมาณให้ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน” ส.ก.กนกนุช กล่าว
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเนื่องจากเวลาลงพื้นที่นั้น จะเจอปัญหาแบบนี้ทุกเขต ต้องขอขอบคุณทางคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างละเอียด ตามที่ฝ่ายบริหารได้หนังสือจากทางสภากทม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 และได้ประชุมในวันที่ 23 เมษายน 2567 โดยเชิญรองผู้ว่าฯ รองปลัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุม ทำให้ทราบข้อมูลหลายอย่างที่เพิ่งรับทราบเช่นกัน ในแง่หนึ่งก็ควรจะเข้าไปทำในพื้นที่ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีบางเคสซึ่งผอ.เขตโดนฟ้องเพราะว่าไปทำถนนที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต ทำให้โดนฟ้องเป็นคดี หรือมีประเด็นที่ว่าเราไปทำถนนซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ไม่ทำตามกฎหมาย แต่ว่ากลายเป็นเราไปช่วยเขา ซึ่งในเรื่องนี้นั้นมีความละเอียดอ่อนอยู่ในแง่ของการเข้าไปดำเนินการ”
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 สภากทม.มีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว หลังจากนั้นวันที่ 23 เมษายน 2567 ผู้ว่าฯกทม. เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยสั่งการให้ปลัดกทม.ตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมด และในวันที่ 13 พฤษภาคม ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณา โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักงานกฎหมายและคดีเป็นประธาน ประชุมครั้งแรกวันที่ 4 มิถุนายน 2567 โดยได้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น ทั้งประเด็นที่สามารถทำได้และประเด็นที่มีปัญหาที่ทำให้กทม.ไม่สามารถที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ในแง่ข้อกฎหมายและความไม่มั่นใจของหน่วยงาน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของสภากทม. ทุกกรณีเพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ในขณะเดียวกันเรื่องการพิจารณายกร่างนะหรือยกเลิกแนวทางการปฏิบัติที่ออกไปทั้ง 2-3 ฉบับ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการซึ่งสำนักงานกฎหมายและคดีนี้ได้มีการยกร่างแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อดำเนินการตามแนวทางต่อไป
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 376 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง