skip to Main Content
เสนอเทศกิจ กทม. นำเครื่องแปลภาษามาใช้งาน แก้ปัญหาสื่อสารกับชาวต่างชาติ

เสนอเทศกิจ กทม. นำเครื่องแปลภาษามาใช้งาน แก้ปัญหาสื่อสารกับชาวต่างชาติ

ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (8 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โดยมี หัวหน้าหน่วยงานเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ
.
📌คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตสำนักเทศกิจ เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ฝึกอบรมการใช้วิทยุสื่อสารให้แก่บุคลากรกรุงเทพมหานครให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการอบรมด้านภาษา (อังกฤษ/จีน) ให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยเห็นว่าการเรียนภาษาต้องเป็นผู้ที่สนใจถึงจะเรียนรู้ได้เร็ว สภากรุงเทพมหานครพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และให้นักท่องเที่ยวเห็นความตั้งใจของกรุงเทพมหานครที่จะดูแลชาวต่างชาติ จึงให้คำแนะนำว่าการอบรมอาจใช้ช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงานและเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียน โดยใช้รูปแบบของชั่วโมงเรียนแทนการอบรมเป็นวัน รวมถึงให้พิจารณานำเทคโนโลยีเครื่องแปลภาษาเข้ามาใช้ ซึ่งสามารถแปลได้หลายภาษา
.
✨นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ชี้แจงต่อที่ประชุม ว่า ภาพรวมการจับปรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กระทำผิด ในปี 65 พบว่ามีจำนวนกว่า 226,000 คดี ค่าปรับรวมกว่า 134 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกาากระทำผิดเกี่ยวกับการติดป้ายโฆษณา ขีดเขียนป้ายโฆษณา ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูล ตั้งวางสิ่งต่าง ๆ บนทางเท้า สำหรับโครงการอบรมด้านภาษา (อังกฤษ/จีน)ให้กับเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีความจำเป็นมากเนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่กทม.มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยเป็นจำนวนมาก โครงการนี้จะเป็นการอบรมให้ความรู้เบื้องต้น และในอนาคตจะมีการอบรมในระดับAdvanceต่อไป
.
🚨ในส่วนของข้อสังเกตคณะกรรมการวิสามัญฯ เกี่ยวกับโครงการจัดหารถไฟฟ้าทรงตัวสองล้อ 20 คัน ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ชี้แจงว่า หน่วยงานได้วิเคราะห์ความจำเป็นการใช้รถไฟฟ้าที่ผ่านมาพบว่าน่าจะมีกทม.เพียงหน่วยงานเดียวที่ใช้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความพอใจเพราะคล่องตัว และสามารถใช้งานได้จริง โดยรถไฟฟ้าสองล้อเดิมมีจำนวน 14 ตัว สามารถใช้งานได้ 13 ตัว ที่จัดหาใหม่จำนวน 20 ตัว โดยจะนำไปใช้งานในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ โดยรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนมหาราช ถนนข้าวสาร ถนนพระอาทิตย์ ถนนเยาวราช ตลาดน้อย ตลาดนัดจตุจักร และย่านราชประสงค์ เป็นต้น
.
👨‍💼👩‍💼นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถรับสมัครบุคลากรได้เองให้ตรงกับคุณสมบัติที่หน่วยงานต้องการ ตามหลักการกระจายอำนาจ หากรอการรับสมัครโดยสำนักงานก.ก. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร) เพียงอย่างเดียวจะทำให้การสรรหาบุคลากรในภาพรวมล่าช้า
.
🚒ตั้งข้อสังเกตภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน
.
🚒จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำแนะนำว่า โครงการก่อสร้างศูนย์อบรมดับเพลิงและกู้ภัย หากติดขัดในเรื่องพื้นที่ให้พิจารณาหาพื้นที่อื่น อาทิ ค่ายลูกเสือในพื้นที่เขตดอนเมือง หรือบางบอน เพื่อให้โครงการที่มีประโยชน์กับประชาชนสามารถดำเนินการต่อไปได้ สำหรับสถานีดับเพลิงที่จะสร้างใหม่ควรครอบคลุมและสามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง และสำหรับการก่อสร้างสถานีเพื่อทดแทนที่เดิม ให้พิจารณาหาที่ดินเพื่อเป็นที่ทำการชั่วคราวระหว่างที่ก่อสร้างสถานีดับเพลิงใหม่ ในส่วนของสถานีด้บเพลิงที่ใช้งานมานานควรปรับปรุงให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามแนวทางการดับเพลิงในอาคารสูง โดยใช้โดรนดับเพลิง เพื่อให้สามารถช่วยในภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง นายธีรยุทธ์ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ชี้แจงที่ประชุม ว่า ในปีนี้สำนักฯได้เสนอของบมาแล้ว 1 ยูนิต เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ที่ใช้โดรนต้องมีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการบังคับ หากได้ผลดีจะได้ขยายผลต่อไป
—————
   

ผู้ชมทั้งหมด 224 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top