skip to Main Content
ส.ก.บางเขน ขอกทม.ตรวจสอบและควบคุม แพล้นปูน ลดปัญหา PM 2.5

ส.ก.บางเขน ขอกทม.ตรวจสอบและควบคุม แพล้นปูน ลดปัญหา PM 2.5

ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ก.ค.67) นายนริสสร แสงแก้ว สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางเขน เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบ และควบคุมโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
.
เนื่องจากโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จหรือแพล้นปูนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม บางแห่งตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีผู้อาศัยหนาแน่น ส่งผลกระทบด้านสุขภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มลภาวะทางเสียงจากเครื่องจักร น้ำปูนและเศษหิน ดิน ทราย ที่อาจไหลลงท่อระบายน้ำสาธารณะ รวมทั้งการสัญจรของรถบรรทุกขนส่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรและทำให้ถนนชำรุดเสียหาย
.
จากสถิติเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 มีการสำรวจจำนวนแพล้นปูนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 114 แห่งใน 36 เขต และถึงแม้การจัดตั้งแพล้นปูนจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการที่กรุงเทพมหานครมีมาตราการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วนั้น แต่ยังคงมีปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบแพล้นปูนอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาสุขภาพทางเดินหายใจ ปัญหามลพิษทางเสียงจากรถบรรทุกที่เข้า-ออกแพล้นปูนไม่เป็นเวลา ปัญหาเสียงดังจากเครื่องจักร ปัญหาถนนชำรุด ซึ่งกรุงเทพมหานครควรเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับพัฒนาวิธีการติดตามตรวจสอบ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
.
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้มีการตรวจสอบ ออกคำสั่งและดำเนินคดีกับสถานประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งพบจำนวน 3 แห่ง จาก 114 แห่ง ซึ่งมีมาตรการในการควบคุมกิจการแพล้นปูน 2 ลักษณะ คือ มาตรการควบคุมสุขลักษณะ และมาตรการควบคุมทางกฎหมาย โดยจะมีการตรวจทั้ง 2 ลักษณะ เดือนละ 2 ครั้ง รวมถึงมีการตรวจวัดค่ามลพิษ นอกจากนี้สำนักงานเขต และสำนักอนามัย ร่วมกันจัดทำมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยจัดทำแผงกั้นฝุ่นละออง มีผ้าใบคลุมรถบรรทุก มีระบบ Sprinkler ฉีดน้ำบริเวณกองหิน ดิน ทราย จัดทำมาตรการจัดการน้ำเสีย เสียงดัง และกากของเสีย รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยในโรงงานด้วย
.
สำหรับข้อร้องเรียงจากประชาชนในพื้นที่เขตบางเขนนั้น กรุงเทพมหานครได้รับแจ้งมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีคณะกรรมการตรวจสอบและสรุปการดำเนินการไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันแพล้นปูนทั้ง 3 แห่งเลิกประกอบการทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้จะกลับไปทบทวนเพิ่มเติมว่าจะสามารถนำมาตราการที่เข้มงวดขึ้น มากำกับควบคุมแพล้นปูนตั้งแต่ต้นทางเพื่อไม่ต้องตามจับกุมทีหลังจะทำได้มากน้อยเพียงใด
———-

ผู้ชมทั้งหมด 382 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top