ส.ก. ตั้งข้อสังเกตงบประมาณสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวนน้อยหากเทียบกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ดูแลความปลอดภัยประชาชนทั้งกรุงเทพฯ
(4 ส.ค.65) ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยมี คณะกรรมการวิสามัญฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการพิจารณา สำหรับในวันนี้เป็นการพิจารณางบประมาณของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) สำนักเทศกิจ(สนท.) และสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)
ในที่ประชุม นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. ได้รายงานภาพรวมการดำเนินงานของสปภ. และแผนงานในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำเพื่อพัฒนางานด้านป้องกันและสาธารณภัย เนื่องจากเห็นว่าภารกิจของสปภ. กทม.มีมากมาย โดยต้องดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้งกรุงเทพฯ แต่ของบประมาณมาเพียงน้อยนิด จึงขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาจัดสรรงบประมาณในด้านนี้ให้เหมาะสม และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหลักสูตรฝึกอบรม ทบทวนความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคณะกรรมการวิสามัญฯได้ติดตามความคืบหน้าโครงการศูนย์ฝึกอบรม ดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมมหานคร หรือการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนและอบรมเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำหรับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ สามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวกรุงเทพฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสปภ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในปัจจุบันสปภ.ได้จัดให้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เนื่องจากอุปกรณ์ด้านการป้องกันภัยมีการพัฒนาเป็นระยะ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้แก่อาสาสมัครที่ทำงานร่วมกันด้วย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการควบคุมและกู้ภัยที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สปภ.ยังได้รับการอบรม เพื่อร่วมเป็นทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR Teams) สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นหน่วยสนับสนุนกรณีเกิดสาธารณภัยรุนแรงในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับงบประมาณที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ สปภ.จะนำไปใช้อย่างรอบคอบ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์ของประชาชน รวมถึงดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย
จากนั้น นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักเทศกิจ พร้อม นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ และคณะผู้บริหารสำนัก ร่วมชี้แจงรายละเอียดงบประมาณประจำปี 2566 ที่ขอรับการจัดสรร ซึ่งที่ประชุมได้ติดตามการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ของสำนักเทศกิจ ความเหมาะสมของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรม รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักเทศกิจเป็นไปด้วยความเหมาะสม
นายไสว โชติกะสุภา ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักการจราจรและขนส่ง ได้รายงานผลการพิจารณาปรับลดงบประมาณของสำนักในเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่ปรับลดงบลงทุนเพื่อนำงบประมาณไปใช้ในโครงการที่จำเป็นและเร่งด่วน จากนั้น นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ตอบคำถามของที่ประชุม ในประเด็นเกี่ยวกับกล้อง CCTV ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 62,000 ตัว เชื่อมโยงทั้งระบบเข้าที่ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว ประชาชนสามารถติดต่อขอดูภาพได้ ณ ศูนย์บริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) จำนวน 13 ศูนย์ แบ่งพื้นที่ให้บริการเป็น 6 กลุ่มเขตในแต่ละกลุ่มเขตมีศูนย์ให้บริการ จำนวน 2 ศูนย์ และศูนย์ส่วนกลาง ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ประเด็นความครอบคลุมของกล้อง CCTV ในถนนสายหลัก รวมทั้งสจส.จะศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนรูปแบบกล้องเป็นระบบ WIFI ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ ในส่วนของประเด็นรถไฟฟ้านั้น คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันและสจส.จะนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อร่วมพิจารณาในวาระต่อไป
——————-
ขอบคุณภาพและข่าว จากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ผู้ชมทั้งหมด 378 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง