สำเร็จแล้ว! แก้ไขร่างระเบียบการใช้เงินกองทุนชุมชน 2 แสนบาท ตอบโจทย์การกระจายอำนาจ ให้ชุมชนเสนอโครงการ แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (หรือโครงการกองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท) เปิดเผยว่า คณะฯ ได้เห็นชอบ และเตรียมนำร่างดังกล่าวเข้าสู่สภากทม. เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
.
“ตามที่มีนโยบายกองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ พบปัญหาเรื่องระเบียบข้อบัญญัติเดิมของกรุงเทพมหานครที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบาย ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เช่น ข้อบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างที่สำนักงานเขตต้องยึดราคากลาง ซึ่งติดปัญหาการเบิกจ่าย เนื่องจากบางรายการในโครงการที่ชุมชนต้องการ ไม่เคยมีราคากลางมาก่อน สำนักงานเขตต้องสืบราคาและกำหนดรายละเอียดลักษณะครุภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ ไม่สามารถดำเนินการทันในปีงบประมาณ โครงการไม่คืบหน้า ทำให้ในปี 2566 และ 2567 มีชุมชนกทม.ที่สามารถเบิกจ่ายตามข้อบังคับได้เพียงแค่ 2 เขต (จาก 50เขต) ไม่กี่ชุมชนเท่านั้น”
.
ส.ก.สุรจิตต์ จึงได้เสนอขอตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการฯ โดยให้สำนักพัฒนาสังคมแก้ไขร่างระเบียบการใช้งบประมาณใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถร่วมคิด ร่วมดำเนินการ ตรวจสอบ และจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยไม่ต้องให้สำนักงานเขตดำเนินการ แต่อยู่ภายใต้กฎหมายคล้ายๆ กองทุน S M L ของรัฐบาล ที่ให้ชุมชนสามารถตัดสินใจเองได้ว่าสิ่งใดจำเป็นต้องใช้ก็ใช้เสียงของชุมชนโหวต โดยไม่ต้องใช้ราคากลาง แต่ให้ใช้วิธีเทียบราคา เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ใช้คู่เทียบ 3 ราย ในจำนวนและสเปกที่เหมือนกันโดยไม่ต้องยึดราคากลาง แต่มีสำนักงานเขตเป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องระเบียบการใช้เงินให้ถูกต้อง
.
ล่าสุด ในที่ประชุมวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยกองทุนชุมชนเข้มแข็ง โดยในที่ประชุมสมาชิกได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าว และเตรียมนำร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่สภา กทม. เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายข้อบัญญัติเร็วนี้ ๆ
.
“ที่ผ่านมากว่า 2 ปี ชุมชนก็ท้อใจ เพราะเสนอขอโครงการไปเท่าใดก็ไม่ได้ ได้แต่สิ่งที่ไม่จำเป็นไม่ต้องการ ชุมชนจึงต้องการได้สิ่งที่จำเป็นสำหรับเขาจริง ๆ ให้เขาสามารถออกแบบโครงการได้ด้วยตัวเอง เช่น ซ่อมฝาท่อระบายน้ำ ติดตั้งกล้อง CCTV เครื่องออกกำลังกาย เป็นต้น ทำให้งบประมาณเข้าถึงชุมชนได้โดยตรง เป็นการให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในบริหารงบประมาณในการดูแลชุมชนตนเองในแต่ละปี เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนที่แท้จริง” ส.ก.ลาดกระบัง กล่าว
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 708 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง