สภากทม. เห็นชอบร่างข้อบัญญัติรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า และให้ฝ่ายบริหารส่งคกก.กฤษฎีกาตีความกรอบอำนาจ ก่อนประกาศเดินหน้าสู่เป้าหมายสร้างกรุงเทพฯ เมืองไร้มลพิษ
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วันนี้ (4 ต.ค.66) : นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. …. รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม
.
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ สืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มาจากสารมลพิษที่ปล่อยออกจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดหรือแบบสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการเผาไหม้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป หรือรถโดยสารประจำทางที่ใช้ขนส่งประชาชนทั่วกรุงเทพมหานคร ส่งผลสืบเนื่องให้เกิดฝุ่นละอองและควันกระจายทั่วไปในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะปัญหา ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นอันตรายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ออกจากรถยนต์ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของรถยนต์ทั่วโลก บังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
.
ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (http://www.law.go.th) แอปพลิเคชัน Google form และรับฟังความคิดเห็นเป็นหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก บริษัทขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
.
“ร่างข้อบัญญัติเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการผลักดันและเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้นำไปปฏิบัติต่อไป ข้อบัญญัตินี้ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิหรือบังคับกันแต่อย่างใด เป็นการควบคุมรถโดยสารที่มีเส้นทางเดินรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด ซึ่งการศึกษาครั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ของกทม.เป็นหลัก” ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าว
.
อย่างไรก็ดีสภากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือไปถึงฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ฉบับนี้ว่าถูกต้องหรือไม่ และกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการตราข้อบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือตอบกลับมาเพื่อให้การพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เป็นไปด้วยความชัดเจน กรุงเทพมหานครจะได้นำเรื่องนี้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะแจ้งผลการพิจารณาให้สภากรุงเทพมหานครทราบต่อไป
.
ในการพิจารณา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายในประเด็นอำนาจในการบังคับใช้ และคำนิยามรถโดยสารประจำทาง ประกอบด้วย นายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย นายสุทธิชัย วีระกุลสุนทร สก.เขตจอมทอง นายเอกกวิน โชคประสพรวย สก.เขตราชเทวี นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สก.เขตบางซื่อ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท นายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ สก.เขตบางบอน นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สก.เขตคลองสาน และนายณรงค์ รัสมี สก.เขตหนองจอก
.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ตอนที่สภากทม.ได้สอบถามมา ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักงานกฎหมายและคดี เข้าชี้แจงให้ข้อมูลกับคณะกรรมการวิสามัญฯ ไปแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่ทางสำนักงานกฎหมายและคดีให้ความเห็นคือกทม.ไม่น่าจะมีอำนาจจะทำได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบจึงต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและให้คำแนะนำก่อน
.
ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเปลี่ยนรถในส่วนที่กรุงเทพมหานครดูแลเองให้เป็นรถไฟฟ้า ฝ่ายบริหารไม่ขัดข้องและพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ในเรื่องรถโดยสารนี้ได้มีการสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากกทม.เองก็ยังไม่แน่ใจในกฎหมายบางฉบับ จึงได้สอบถามไปยังกฤษฎีกา อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางไหนฝ่ายบริหารก็พร้อมที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. …. ในวาระสองและวาระสาม เป็นเอกฉันท์ และจะส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
———————————————-
ผู้ชมทั้งหมด 326 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง