ตอนที่ 1 บทบาทของ “ประธานสภากรุงเทพมหานคร”
การพัฒนากรุงเทพมหานครในทุกมิติ คือ หน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้นำ แต่อีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญ คือ “สภากรุงเทพมหานคร” ซึ่ง “ประธานสภากรุงเทพมหานคร” ทำหน้าที่และมีอำนาจในการดำเนินกิจการของสภากรุงเทพมหานคร
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภากรุงเทพมหานคร
การพัฒนากรุงเทพมหานครในทุกมิติ คือ หน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้นำ แต่ชาวกรุงหลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีอยู่อีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญ นั่นก็คือ “สภากรุงเทพมหานคร”
สภากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจตรวจสอบติดตามการบริหารของฝ่ายบริหาร ด้วยการตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไป และโดยเฉพาะการทำหน้าที่ผ่านคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทอันสำคัญของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะตรวจสอบและติดตามการบริหารของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร
สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ “ส.ก.” ชุดปัจจุบัน มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 ซึ่งมีการเลือกประธานสภากรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
บทบาทและหน้าที่ “ประธานสภากรุงเทพมหานคร”
“ประธานสภากรุงเทพมหานคร” ทำหน้าที่และมีอำนาจในการดำเนินกิจการของสภากรุงเทพมหานคร
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภากรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
- ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภา
- เป็นประธานของที่ประชุม
- กำกับดูแลงานในสภา
- รักษาระเบียบและความสงบเรียบร้อยในสภา
- เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก
- หน้าที่และอำนาจตามที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศอื่นกำหนดไว้
“คณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร”
ขณะเดียวกัน ส.ก. จะทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งสภากรุงเทพมหานคร มีคณะกรรมการสามัญประจำสภาทั้งหมด 12 คณะ ประกอบด้วย
- คณะกรรมการกิจการสภา
- คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม
- คณะกรรมการการศึกษา
- คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
- คณะกรรมการการสาธารณสุข
- คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ
- คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
- คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
- คณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง
- คณะกรรมการการระบายน้ำ
- คณะกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา
“คณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร” มีอำนาจกระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร จากนั้นรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร ถ้าสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการดังกล่าว ประธานสภากรุงเทพมหานคร ก็จะส่งเรื่องให้ฝ่ายบริหารดำเนินการตามมติของสภากรุงเทพมหานคร ต่อไป
ผู้ชมทั้งหมด 3,777 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง