ตอนที่ 6 บทบาทของ “คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม”
“มหานครสีเขียว” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ “กรุงเทพมหานคร” ที่เร่งดำเนินการให้ประสบความสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2575 ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ซึ่งการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น คือ การทำงานของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร เคียงคู่กับการเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก “คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร
“มหานครสีเขียว” หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ “กรุงเทพมหานคร” ที่กำลังเร่งดำเนินการให้ประสบความสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2575 และขณะนี้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 7.21 ตารางเมตรต่อคน ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายไว้ว่า กรุงเทพมหานครจะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน การบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นให้ได้ คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร เข้าไปตรวจสอบอย่างไร ? ไปติดตามกัน
บทบาทของคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร
อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร คือ การพิจารณา สอบสวนหรือศึกษาติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ในด้านการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การบริหารจัดการสวนสาธารณะและเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน คุณภาพอากาศและปัญหาฝุ่นละออง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศึกษาปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการดำเนินงานของหน่วยงาน ก่อนจะรายงานผลการดำเนินงานต่อสภากรุงเทพมหานคร
การปรับภูมิทัศน์ “สวนลุมพินี” หนึ่งในแผนการพัฒนา “มหานครสีเขียว
นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการสำคัญของกรุงเทพมหานครที่อยู่ในแผนการพัฒนามหานครสีเขียว คือ การปรับภูมิทัศน์ “สวนลุมพินี” สวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ที่จะครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2568
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ยื่นของบประมาณเพิ่มเติมจากสภากรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาปรับปรุงสวนลุมพินี รวมถึงทางคนเดิน – ทางจักรยาน บริเวณแยกสารสิน – ถนนรัชดาภิเษก พื้นที่เขตปทุมวัน และเขตคลองเตย (สะพานเขียว) ที่เชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ดังนั้น นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทำงาน จึงเดินทางมาตรวจสอบสถานที่จริง ในการนำไปประกอบการพิจารณางบประมาณปี 2565 ว่าเหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่ ?
นายชยาวุธ กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่แล้ว เห็นถึงความจำเป็นในการนำงบประมาณมาพัฒนาสวนลุมพินี เพราะสวนสาธารณะแห่งนี้ เป็นปอดของชาวกรุง ทั้งการให้ความร่มรื่น และเป็นสถานที่พักผ่อน อย่างสวนเบญจกิติ มีความผสมผสานระหว่างสวนน้ำและสวนป่า
มีความอุดมสมบูรณ์ ทุกวันนี้ ทางคนเดิน – ทางจักรยาน บริเวณแยกสารสิน – ถนนรัชดาภิเษก พื้นที่เขตปทุมวัน และเขตคลองเตย (สะพานเขียว) ทำให้การเดินทางเชื่อมระหว่างสวนสาธารณะ 2 แห่ง รวดเร็ว สะดวกสบายยิ่งขึ้น”
เป้าหมาย กทม. ต้องมีพื้นที่สีเขียวอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน
นอกเหนือจากการตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครแล้ว เป้าหมายการทำงานของคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร คือ การร่วมผลักดันให้พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครในระดับเกณฑ์มาตรฐานโลก
นายชยาวุธ กล่าวสรุปว่า “องค์การอนามัยโลก กำหนดว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวตามเมืองต่าง ๆ ควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ขณะนี้กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 7.21 ตารางเมตรต่อคน ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายไว้ว่า กรุงเทพมหานครจะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร มั่นใจว่า จะสามารถสนับสนุนการทำงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2575 เพื่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานครทุกคน”
ฝากข้อเสนอแนะถึงสภากรุงเทพมหานคร ผ่านเว็บไซต์ของสภากรุงเทพมหานครที่ www.bmc.go.th
#ร่วมคิดร่วมสร้างกรุงเทพฯที่ดีขึ้น #BetterBangkok
ผู้ชมทั้งหมด 1,507 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง