คณะอนุกรรมการตั้งข้อสังเกตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภารกิจของเขต เสนอที่ประชุมวิสามัญพิจารณางบ68 กทม.
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (21 ส.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการรายงานผลการพิจารณางบประมาณของประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระดับเขต 5 คณะ ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตธนบุรี ภาษีเจริญ จอมทอง หนองแขม ทุ่งครุและบางคอแหลม
2. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบางซื่อ จตุจักร ราชเทวี และลาดพร้าว
3.คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบางนา ประเวศ ยานนาวา พระโขนง และวัฒนา
4.คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา และบางแค
5.คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวา
.
ทั้งนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้นำผู้บริหารเขตเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมการใช้งบประมาณ ประกอบด้วย นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารเขตธนบุรี ภาษีเจริญ จอมทอง หนองแขม ทุ่งครุและบางคอแหลม เข้าชี้แจง จากนั้น นายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตบางซื่อ จตุจักร ราชเทวี และลาดพร้าว เข้าชี้แจง นายสัณห์สิทธิ์ เนาภ
ถาวร ส.ก.เขตวัฒนา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตบางนา ประเวศ ยานนาวา พระโขนง และวัฒนา เข้าชี้แจง นายอำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา และบางแค เข้าชี้แจง และนายณรงค์ รัสมี ส.ก.หนองจอก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวา เข้าชี้แจง
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนักงานเขตธนบุรี กรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่เป็นการสืบราคาโดยเสนอเป็นคู่เทียบเพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาราคานั้น สำนักงบฯ พิจารณาโดยการนำใบเสนอราคาของสำงานเขตอื่นๆ เปรียบเทียบเพื่อหาราคาต่ำสุด ทำให้สำนักงานเขตที่เสนอของบจัดซื้อครุภัณฑ์ไม่ได้ครุภัณฑ์คุณสมบัติตามที่เสนอไปในขั้นต้น ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เนื่องจากเอกสารใบเสนอราคาไม่ตรงกับสำนักงานเขตที่ของบประมาณ
.
นางสาวกนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม. ชี้แจงว่า ในกรณีที่มีการขอจัดสรรงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีรายละเอียดเหมือนกันของหลายๆ สำนักงานเขต สำนักงบฯ จะพิจารณาร่วมกันทั้งหมดเพื่อหาราคาที่ต่ำสุด เพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณ แต่ก่อนดำเนินการจะมีการถามกลับไปยังสำนักงานเขตนั้นๆ เพื่อให้พิจารณาและยืนยันราคาอีกครั้งก่อนดำเนินการทุกกรณี
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องปรับอากาศตามนโยบายห้องเรียนปลอดฝุ่นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้าของโรงเรียน
.
นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เครื่องปรับอากาศที่สำนักงานเขตธนบุรีของบประมาณเพื่อจัดซื้อ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการซื้อเพื่อทดแทนและส่วนที่สองคือการซื้อใหม่ ซึ่งหากเขตฯ จะโอนงบประมาณให้สำนักการศึกษาเป็นผู้ดูแลนั้นสามารถทำได้ โดยต้องหารือร่วมกันก่อน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องเห็นชอบ แต่หากหน่วยงานที่จะรับงบประมาณไม่เห็นด้วยจะไม่สามารถโอนได้ กรณีค่าไฟฟ้าจะอยู่ในงบกลาง ซึ่งต้องให้โรงเรียนขอจัดสรรงบประมาณเข้ามา และให้ฝ่ายโยธาของแต่ละเขตประมาณการราคา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบไฟฟ้า สายไฟที่ชำรุด รวมถึงครุภัณฑ์อื่น โดยจะพิจารณางบของโรงเรียนอย่างดีที่สุดเพื่อประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนของกรุงเทพมหานคร
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ชื่นชมสำนักงานเขตจอมทอง ในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นเขตแรกของงบปี 68 ตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของฝ่ายบริหาร โดยคณะวิสามัญฯ พร้อมผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถสันดาปในหน่วยงานของกทม. ในปีต่อๆ ไป
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตธนบุรี ภาษีเจริญ จอมทอง หนองแขม ทุ่งครุ และบางคอแหลม มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. กรุงเทพมหานครควรเร่งรัดให้ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดของลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างของกรุงเทพมหานครที่มีรายได้น้อย
2. สำนักงาน ก.ก.ควรเร่งสำรวจตำแหน่งที่หมดบัญชี และสำนักงานการเจ้าหน้าที่ควรเร่งรัดการบรรจุข้าราชการในตำแหน่งที่ว่าง เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่เพียงพอสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. กรุงเทพมหานครควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มาชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดอาจถูกยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีได้
4. กรุงเทพมหานครควรเร่งรัดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม ตรวจสอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมภาษีที่ต้องชำระ และที่ค้างชำระเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดและครบถ้วน
5. กรุงเทพมหานครควรมีการประสานงานระดับฝ่าย หรือกลุ่มหน่วยงานราชการ หรือประชาชนทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ให้การเสนองบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานมีเหตุผลและความจำเป็นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับแผนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในแต่ละช่วงระยะเวลา และมีประสิทธิภาพในการพัฒนาต่อไป
6. กรุงเทพมหานครควรจัดหาโดรนสำหรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
7. เมื่อหน่วยงานได้รับงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างควรรีบดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และบริหารสัญญาว่าจ้างตามที่ระบุในสัญญาโดยเคร่งครัด สำหรับการปรับปรุงโรงเรียน เขตควรเร่งดำเนินการในช่วงปิดภาคเรียนให้แล้วเสร็จ รวมทั้งกำชับผู้รับจ้างให้จัดทำบัตรประจำตัวพร้อมภาพถ่ายคนงานและรายชื่อผู้ที่จะเข้าปฏิบัติงานเพื่อให้โรงเรียนใช้ในการตรวจสอบ
8. โรงเรียนควรจัดให้มีกระดาษชำระประจำห้องน้ำนักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีสุขอนามัยที่ดี
9. โรงเรียนส่วนใหญ่มีระบบกรองน้ำสำหรับน้ำดื่มเท่านั้น แต่เนื่องจากนักเรียนใช้น้ำประปาในการล้างหน้า แปรงฟัน และโรงเรียนใช้ล้างผักและผลไม้ จึงควรจัดให้มีระบบกรองน้ำสำหรับน้ำใช้ด้วยเพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้น้ำประปาซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค
10. ห้องน้ำนักเรียนที่เป็นห้องน้ำใหญ่มีประตูทางเข้า และภายในแบ่งเป็นห้องน้ำหลายๆ ห้อง ไม่ควรมีประตูทางเข้า ป้องกันเหตุกระทำอนาจารหรือทะเลาะวิวาท
11. โรงเรียนควรมีการปรับปรุงภาพลักษณ์ให้มีความสวยงามทันสมัย เพื่อจูงใจให้นักเรียน และผู้ปกครองมีความสนใจอยากส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
12. การปรับปรุงห้องน้ำนักเรียน สำนักงานเขตควรจัดหาสุขภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กเพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของเด็ก
13. โรงเรียนควรเร่งดำเนินการบริหารจัดการระบบทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อให้มีจำนวนทรัพย์สินถูกต้องและเป็นไปตามข้อเท็จจริง
.
สำหรับข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงรางระบายน้ำในพื้นที่เขตบางซื่อและเขตอื่นๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักการโยธา นั้น นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ชี้แจงว่า ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน และรางระบายน้ำรูปตัวโอ (โอ-กัตเตอร์) หรือ รางระบายน้ำแบบตัว V มีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ ส่วนด้านประสิทธิภาพในการระบายน้ำนั้นต่างกันไม่มาก โดยทั้งสองแบบเมื่อมีการติดตั้งจะต้องเปิดพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบกับประชาชนด้วย ดังนั้นสำนักงานเขตจึงต้องเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมที่สุด
.
นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการการเลือกใช้รางระบายน้ำนั้น รองผู้ว่าฯ (นายวิศณุ ทรัพย์สมพล) ได้ให้หลักการกับสำนักการโยธาไว้แล้ว กรณีเป็นซอยที่มีความกว้างเหมาะสม ควรเลือกใช้เป็นรางระบายน้ำแบบโอกัตเตอร์ เนื่องจากรางระบายน้ำแบบตัววี (รางวี) จะมีร่องระบายน้ำซึ่งอาจจะทำให้การขับขี่จักรยาน จักรยานยนต์หรือการเดินเท้าเกิดอุบัติเหตุได้ และต้องคำนวนความลาดเอียงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอในการวางรางระบายน้ำในพื้นที่แคบได้
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตบางซื่อ จตุจักร ราชเทวี และลาดพร้าว มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การตั้งราคาค่าครุภัณฑ์ควรเป็นตามมาตรฐานราคากลาง สำหรับรายการที่สืบราคาตามท้องตลาดต้องตรวจสอบเอกสารประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วน
2. ควรกำหนดคุณลักษณะและรายละเอียดของครุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้นและสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
3. การตั้งค่าใช้จ่ายรายการค่าไปรษณีย์กรณีการแจ้งผู้กระทำความผิดปรับผ่านทางไปรษณีย์ ควรมีการตั้งงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ เนื่องจากทั้ง 50 เขตมีการขอจัดสรรงบประมาณ หากสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้จะสามารถลดงบประมาณได้
4. หลักการพิจารณางบประมาณไม่ควรยึดตามกรอบการพิจารณา ร้อยละ 30 และการจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากแต่ละเขตพื้นที่มีสัดส่วนพื้นที่ และจำนวนประชากร ความจำเป็นและปัญหาที่ต่างกัน ควรพิจารณาถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
5. งบอุดหนุนจากรัฐบาลที่โรงเรียนได้รับในสัดส่วนร้อยละ 40 ที่เป็นค่าสาธารณูปโภค ควรจัดสรรให้เป็นงบประมาณสำรอง เพื่อใช้ในกรณีอื่น ๆ ของการใช้ในโรงเรียน
6. การของบประมาณในการปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ควรขอจัดสรรให้ครบภายใน 1 ครั้ง เนื่องจากการดำเนินการแยกจะเป็นการแบ่งจัดซื้อจัดจ้าง และการขอในปีงบประมาณถัดไปจะไม่ได้รับการพิจารณา
7. โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. หากเป็นพื้นที่แสงสว่างไม่เพียงพอในเวลากลางคืน ควรขอจัดสรรงบประมาณในส่วนของไฟฟ้าในคราวเดียวกัน เนื่องจากการโครงการจากสำนักการโยธาสามารถดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวได้ หากดำเนินการแยกจะเป็นการแบ่งจัดซื้อจัดจ้าง และการขอในปีงบประมาณถัดไปจะไม่ได้รับการพิจารณา
8. สำนักงานเขตควรตรวจสอบการรุกล้ำที่สาธารณะให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
9. กรุงเทพมหานครควรปรับปรุงระเบียบให้ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนมีงบประมาณสำหรับค่าไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
10. ควรจัดประชุมให้คำแนะนำแก่ชุมชนในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชน เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเบิกจ่าย
11. รายการปรับปรุงซอยต่างๆ หากมีการเทคอนกรีตต้องมีระดับที่เท่ากันและวางรางวีต้องได้มาตรฐานตามที่สำนักการโยธากำหนดไว้
12. ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลการลอกท่อภาพรวมเพื่อเป็นแผนในการลอกท่อต่อไป
13. ควรมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน และใช้เวลาอย่างคุมค่า และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
14. ควรมีการทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดโดยจะต้องไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และควรมีเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานที่แท้จริงได้
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตบางนา ประเวศ ยานนาวา พระโขนง และวัฒนา มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การทาสีอาคารเรียนควรใช้สีที่เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และเป็นสีแบบเดียวกันเมื่อได้รับงบประมาณในปีต่อไป
2. การปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ที่สร้างท่อระบายน้ำฝั่งเดียว แล้วทำท่อลอดเพื่อรับน้ำอีกฝั่ง สำนักงานเขตควรคำนึงถึงการขยายตัวของเมืองที่มีมากขึ้น โดยสร้างท่อระบายน้ำทั้งสองฝั่งและกำหนดขนาดของท่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง
3. ถนน ตรอก ซอย ที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง หน่วยงานควรแก้ไขโดยล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำหลักและท่อลอดก่อน หากยังคงมีปัญหาจึงเสนอของบประมาณแก้ไขโดยการยกระดับผิวทางหรือเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำต่อไป
4. การขอตั้งงบประมาณค่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง กรณีมีการรุกล้ำ สำนักงานเขตควรแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหากได้รับงบประมาณแล้วผู้รับจ้างสามารถเข้าปฏิบัติงาน่ได้โดยไม่มีปัญหาอุปสรรค และทำให้งานล่าช้า
5. การจ้างเหมาล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำควรมีเนื้องานจ้างล้างท่อระบายน้ำหลัก ท่อลอด และบ่อพัก ไปพร้อมกันในคราวเดียว
6. การก่อสร้างในพื้นที่โรงเรียน ควรกำหนดการวางครุภัณฑ์ไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ใช้สอยของเด็กนักเรียน
7. การของบปรับปรุงพื้นภายนอกอาคารเรียนควรเลือกกระเบื้องที่เหมาะกับสภาพภายนอกอาคาร ป้องกันอันตรายหลังฝนตก
8. การปรับปรุงพื้นสนามเด็กเล่นควรใช้วัสดุที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา และบางแค มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การประมาณการจัดเก็บภาษี ควรคำนึงถึงความเป็นจริงและความเหมาะสม เนื่องจากมีการพยายามเปลี่ยนที่ดินรกร้างว่างเปลา เป็นการทำการเกษตรหรือสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อลดการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพยายามลดขนาดหรือลดรูปแบบของตัวอักษรเพื่อลดอัตราการเสียภาษีป้าย
2. การจัดหายานพาหนะทดแทนของเดิมที่จำหน่าย ควรพิจารณาการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษ และปัญหาฝุ่นควัน
3. การปรับปรุงถนนซอยต่าง ๆ ควรประสานความร่วมมือกับการประปา ลดปัญหาการขุดเจาะพื้นถนนเพื่อวางท่อประปา แล้วไม่ได้ปรับปรุงสภาพให้อยู่ในสภาพเดิม ทำให้กรุงเทพมหานครต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการปรับปรุงสภาพพื้นผิวถนนบ่อยครั้ง
4. สำนักงานเขตควรมีการของบประมาณการขุดลอกคลองเป็นประจำทุกปี เพื่อเตรียมการระบายน้ำในพื้นที่ ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวามีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1.ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเอกสารประกอบร่างข้อบัญญัติฯ ควรมีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจน
2.ครุภัณฑ์บางประเภท ควรเลือกใช้ครุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ควรปรับปรุงประสิทธิภาพและหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เหมาะสมพอดีกับการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ให้มีงบประมาณเหลือจ่ายในแต่ละปีให้น้อยที่สุด
4.กรณีครุภัณฑ์ที่ไม่มีมาตราฐานของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี และที่กรุงเทพมหานครกำหนด หน่วยงานควแนบใบเสนอราคาและรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ให้ถูกต้อง ครบถ้วนและชัดเจน
5. การตั้งงบประมาณปรับปรุงถนนในกรณีที่ไม่มีเนื้องานการวางท่อระบายน้ำ ควรมีเนื้องานวางท่อระบายน้ำไปในคราวเดียวกัน
6. การเชื่อมต่อท่อระบายน้ำจากบ้านเรือนประชาชนควรกำหนดให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการเรียกค่าใช้จ่ายจากประชาชน
7. ในการปรับปรุงถนนควรคำนึงถึงระดับความสูงของถนนที่จะปรับปรุง
8. ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ชื่อรายการ แผนผังบริเวณที่จะดำเนินการปรับปรุง และใบประมาณราคาควรมีชื่อที่ถูกตองและตรงกัน
9. การตั้งงบประมาณรายจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาไม่ได้พิจารณาจากปริมาณงานตจริง และไม่ตรงกับภารกิจที่รับผิดชอบ
10. ควรตั้งงบประมาณที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุน เช่น ด้านกีฬา เพื่อเป็นการต่อยอกไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
11. การซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ กรณีการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าส่องสว่างที่สำนักงานเจตดำเนินการเองโดยประสานการไฟฟ้านครหลวง มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่แตกต่างจากการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าส่องสว่างที่ดำเนินการโดยสำนักการโยธา ควรมอบให้สำนักการโยธาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ไฟฟ้าส่องสว่างเป็นไปในทางเดียวกันทั้งกรุงเทพมหานคร
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 185 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง