คกก.วิสามัญฯ งบ 67 กทม. พิจารณารายงานจากคณะอนุกรรมการประจำหน่วยงานระดับสำนัก
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (29 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของคณะอนุกรรมการ โดยมี ประธานคณะอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานผลการพิจารณา ดังนี้
.
นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ของสำนักงานเขตพญาไท ห้วยขวาง ราชเทวี ดินแดงและวังทองหลาง รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตเมื่อหน่วยงานขอจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อรถใช้งาน ขอให้หน่วยงานพิจารณาจัดซื้อรถไฟฟ้าเป็นลำดับแรก
.
นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการในหลายประเด็น ได้แก่
1. การจัดสรรงบประมาณของสำนักการแพทย์ เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาล หน่วยงานควรหารือกับสำนักการโยธาอย่างใกล้ชิด และสำนักการโยธาต้องดำเนินการตามความต้องการของผู้ใช้งาน (แพทย์และพยาบาล) เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับบริการ นอกจากนี้เสนอให้สำนักการโยธาจ้างผู้เชี่ยวชาญสำหรับการออกแบบโครงสร้างห้องพิเศษในโรงพยาบาล เนื่องจากการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลมีความซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องมีที่ปรึกษาโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบต่าง ๆ ในโรงพยาบาล
2. การจัดสรรงบประมาณของสำนักอนามัย สำหรับการออกแบบในหมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งให้บริการประชาชนเป็นหลัก การออกแบบต้องคำนึงถึงความเพียงพอในการให้บริการ ควรออกแบบการขยายพื้นที่จอดรถเพื่อรองรับผู้มาใช้บริการ
3. การจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เสนอให้มหาวิทยาลัยฯ แจ้งทางบริษัทผู้ผลิตออกหนังสือรับรองอะไหล่ครุภัณฑ์ว่าจะมีอะไหล่รองรับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ทุกชิ้นส่วน หลังจากหมดอายุการรับประกัน เพื่อความมั่นใจและประโยชน์สูงสุดของผู้ให้บริการ
.
นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการในหลายประเด็น ได้แก่
1. การจัดสรรงบประมาณของสำนักเทศกิจ ควรมีการเข้มงวดกวดขันผู้ค้าให้อยู่ในกรอบพื้นที่ที่กำหนดให้ขายสินค้าในที่สาธารณะ เพื่อเป็นการคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบกับประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร นอกจากนี้ควรมีการจัดทำแผนการจัดระเบียบจุดรับ-ส่งผู้โดยสารของวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง และการแก้ไขปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการรถสาธารณะ
2. การจัดสรรงบประมาณของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควรมีการกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ความเหมาะสมของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในการเข้าร่วมฝึกอบรมโครงการต่าง ๆ เพื่อให้หลังจากการฝึกอบรมแล้วสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับงบประมาณ ในส่วนของการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ ควรต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 93 การจำแนกประเภท การใช้ประโยชน์ที่ดินท้ายกฎกระทรวงที่ใช้บังคับผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร และการใช้งบประมาณ ผู้บริหารศูนย์ฯ ครูฝึกควรมีประสบการณ์และผ่านหลักเกณฑ์สากล หลักสูตรอบรมควรต้องเป็นไปตามหลักสากลของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (NFPA) ระบบการฝึกเสมือนจริงหรือจำลองเหตุการณ์ต้องสอดคล้องกับสภาพที่เป็นปัจจุบันและมีการพัฒนา การบริหารจัดการอุปกรณ์หรือรถดับเพลิงให้เหมาะสม เช่น การกำหนดอายุรถดับเพลิง จำนวนอุปกรณ์สำรอง เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
3. การจัดสรรงบประมาณของสำนักการจราจรและขนส่ง ควรมีการเปลี่ยนรูปแบบแท่งปูนกั้นช่องทางเดินรถ BRT เป็นการตีเส้นหรือรูปแบบอื่น เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในการเปลี่ยนช่องจราจร และเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้สัญจร และควรใช้กล้องวงจรปิดในการตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจร หรืออาจจะกำหนดเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนในการเดินรถ BRT เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด นอกจากนี้ควรปรับระดับสัญญาณไฟทางข้าม ทางม้าลายที่เป็นจุดเสี่ยง และความสว่างของดวงโคม LED ให้เหมาะสม ไม่ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดตาพร่า รวมทั้งควรให้มีเสียงเตือน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม เพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ข้ามทางและผู้ขับขี่ เป็นต้น
.
*ตั้งข้อสังเกตสนง.พัฒนาที่อยู่อาศัย ดูแลที่อยู่อาศัยชั่วคราวกลุ่มผู้รุกล้ำ เยียวยาปัญหารื้อย้ายตามนโยบายภาครัฐ
.
นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล ส.ก.เขตธนบุรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักการคลัง การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการในหลายประเด็น ได้แก่
1. การจัดสรรงบประมาณของสำนักการคลัง และสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ควรกำหนดให้หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครมีการจัดทำแผนในการจัดการและดูแลทรัพย์สินที่ได้ดำเนินการจัดซื้อและลงทะเบียนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนในการจัดการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง หรือ Maintenance เครื่องจักร เครื่องยนต์ ให้มีประสิทธิภาพตามอายุการใช้งานด้วย ในส่วนของกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ควรมีการเปิดรับสมัครสอบและคัดเลือกบุคลากรโดยหน่วยงานเอง เพราะจะทำให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องยนต์ ตรงตามความต้องการของหน่วยงานมากกว่าการที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้เปิดรับสมัครสอบและคัดเลือกให้ เป็นต้น
2. การจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ควรดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย มิใช่มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินกิจการ เนื่องจากประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเดือดร้อน และควรพิจารณาดำเนินการเรื่องการพัฒนาระบบการชำระดอกเบี้ยรับจำนำ โดยให้ประชาชนผู้จำนำสามารถชำระดอกเบี้ยผ่านทางระบบแอปพลิเคชันธนาคารพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยควรพิจารณาดำเนินการขอเช่าอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ หรือจัดซื้ออาคารที่หลุดจำนองกับธนาคาร เพราะจะได้สินทรัพย์ในราคาที่ถูกและไม่เสียเวลาในการก่อสร้าง ส่งผลให้คืนทุนได้เร็ว เป็นต้น
.
ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหน่วยงานการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครว่า การทำงานของสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร ควรบริหารอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่รุกล้ำคลอง และต้องรื้อย้ายตามนโยบายของภาครัฐ ให้ได้มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว สำหรับสถานธนานุบาลควรตั้งเป้าเพิ่มสาขาให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และเป็นรายได้ให้กับกรุงเทพมหานคร
.
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม และสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ โดยข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการมี ดังนี้
1.โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครควรให้ความสำคัญกับหลักสูตรการฝึกอาชีพที่หากสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง
2.การก่อสร้างสนามสเก็ต ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ควรแก้ไขรายละเอียดให้เป็นไปตามมาตรฐานของการกีฬาแห่งประเทศไทย และเพื่อให้เป็นสนามตามมาตรฐานสากลของสมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย
.
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักการโยธา รายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการในหลายประเด็น ได้แก่
1. โครงการต่อเนื่องที่มีระยะเวลาผูกพันเกินกว่า 2 ปี ขึ้นไป ควรคำนึงถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน การกำหนดแผนงานและแผนการเบิกจ่ายเงินตามข้อเท็จจริง นำมาประกอบการจัดสรรงบประมาณ
2. การจัดทำโครงการก่อสร้าง การปรับปรุงซ่อมแซมถนน ทางเท้า และผิวจราจร ทุกรายการจำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงาน การจัดทำแผนมาตรฐานทางวิศวกรรม การจัดทำแผนงบประมาณ และการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและครบถ้วนสมบูรณ์ เกิดผลกระทบเดือดร้อนต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
3. ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงทุกรายการต้องมีป้ายแสดงสัญลักษณ์ให้ทราบว่าเป็นสถานที่ก่อสร้าง การแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัย
4. การออกแบบอาคารสถานที่และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงการประหยัดพลังงาน ความคุ้มค่า รูปแบบควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกและการใช้งานเป็นไปตามอารยสถาปัตย์ด้วย
—————————–
ผู้ชมทั้งหมด 339 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง