skip to Main Content
คกก.วิสามัญพิจารณางบเพิ่มเติมปี 66 แนะกทม.ใช้งบให้ครอบคลุมคุ้มค่าในระยะยาว เน้นประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

คกก.วิสามัญพิจารณางบเพิ่มเติมปี 66 แนะกทม.ใช้งบให้ครอบคลุมคุ้มค่าในระยะยาว เน้นประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

🏢(24 ก.พ.66) ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยมี คณะกรรมการวิสามัญฯ และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 8 เขต และกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 9 เขต ร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง
.
🏢สำหรับวันนี้เป็นการพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ดุสิต วังทองหลาง ดินแดง ห้วยขวาง พญาไท บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว ประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และเขตคลองสามวา โดยเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงานเขตที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ อาทิ ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงถนน ซอย ท่อระบายน้ำ ฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ การปรับปรุงอาคารเรียน งานระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การปรับปรุงสะพานทางเดินริมคลอง ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำแนะนำเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถนำงบประมาณที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด ดังนี้
.
🙋คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานในเรื่องการปรับภูมิทัศน์หลังจากการปรับปรุงทางเท้าและถนน ขอให้กำชับเจ้าของอาคาร ผู้ประกอบการ ไม่นำสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นกระถางต้นไม้ เก้าอี้ ยางรถยนต์ หรือสิ่งอื่นใดมาวางบนทางเท้า เพราะนอกจากดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังริดรอนสิทธิของคนเดินเท้าอีกด้วย แนะให้สำนักงานเขตพื้นที่บังคับใช้ พรบ.รักษาความสะอาด และเพิ่มความถี่ในการลงพื้นที่ตรวจตรา รวมถึงประสานสถานีตำรวจในพื้นที่เรื่องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการรุกล้ำผิวจราจร และการจอดรถกีดขวางการจราจร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
.
🙋‍♂️สำหรับด้านการปรับปรุงถนน ซอย ท่อระบายน้ำ บ่อพักท่อระบายน้ำ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการกำหนดขนาดท่อระบายน้ำที่ส่วนใหญ่มีขนาด 80 ซม. ว่า จะสามารถรองรับปริมาณน้ำทั้งจากน้ำฝนและน้ำทิ้งจากครัวเรือนได้เพียงพอหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะหรือเป็นจุดอ่อนน้ำท่วมมักจะมีน้ำท่วมขังนาน สาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำมากประกอบกับท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กไม่สามารถระบายได้ทันจึงเกิดเหตุน้ำท่วมขัง📚 และได้ซักถามเพิ่มเติมว่าเหตุใดกรุงเทพมหานครจึงไม่วางท่อระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ตลอดแนวเลย เพราะในทุกวันนี้หากพื้นที่ไหนเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากก็ต้องทำเรื่องขอจัดสรรงบเข้ามาเพื่อปรับปรุงใหม่ อยากให้มองถึงความคุ้มค่าในระยะยาวให้มากกว่านี้ และเป็นการใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรได้อย่างคุ้มค่าและเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด
.
👨‍💼ซึ่งในประเด็นนี้สำนักการระบายน้ำได้ชี้แจงว่า ในปัจจุบันสำนักการระบายน้ำได้กำหนดขนาดของท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้น จากเดิมท่อระบายน้ำในกรุงเทพมหานครมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 40 หรือ 60 ซม. และถนนหรือซอยในบางพื้นที่ไม่มีท่อระบายน้ำ หากพื้นที่ใดได้รับการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงเขตทาง ก็จะดำเนินการเปลี่ยนหรือติดตั้งท่อระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งนี้จะพิจาณาจากสภาพพื้นที่ประกอบ เช่น ความกว้างของผิวทาง ความหนาแน่นของครัวเรือนโดยรอบบริเวณ หรือสถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสม ระยะทางจากท่อระบายน้ำลงสู่คลองหรือทางระบายน้ำ เป็นต้น ซึ่งท่อระบายน้ำที่จะติดตั้งใหม่มีตั้งแต่ขนาด 80 – 150 ซม. ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องระบายน้ำได้ดีกว่าเดิม
.
🙋‍♂️นอกจากนี้ ในที่ประชุม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้กล่าวชื่นชมสำนักงานเขตวังทองหลางที่ขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซอยรามคำแหง 53 เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องการจราจร เนื่องจากซอยดังกล่าวเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนลาดพร้าว และถนนรามคำแหง และเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาขนาดใหญ่ มีสถานประกอบการ ที่พักอาศัย และชุมชนเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนซอยนี้จะมีการจราจรที่หนาแน่นและติดขัดเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาเรื่องการจราจรในบริเวณนี้เป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ผู้อำนวยการเขตเล็งเห็นและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ผู้ชมทั้งหมด 345 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top